ศึกษาเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย รวมไปถึง วิธีคิดดอกเบี้ยธนาคาร เสียก่อน ค่อยตัดสินใจขอสินเชื่อกับธนาคาร ด้วยความจำเป็นทางการเงินที่แตกต่างกัน บางคนขอสินเชื่อเพื่อลงทุนทำธุรกิจ เพื่อการศึกษา ซื้อที่พักอาศัย หรือแก้ไขปัญหาทางการเงิน แต่ก่อนที่จะขอสินเชื่อเราควรจะสำรวจความพร้อมในการกู้เงิน ลองมาดูกันว่าจะมีวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบไหนกันบ้าง?

วิธีคิดดอกเบี้ยธนาคาร แบบคงที่ (Flat Rate)

วิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบนี้ มักจะใช้กับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งไม่ว่าจะรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ โดยวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบคงที่นี้ จะคิดจากเงินต้นทั้งก้อนตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจะมีการโปะจ่าย ดอกเบี้ยก็ได้ถูกคำนวณในค่างวดเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่กำลังสนใจซื้อรถแบบผ่อนสักคัน สามารถนำวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบคงที่นี้ ไปใช้เพื่อคำนวณดอกเบี้ย เพื่อนำไปคิดค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนได้ ตามสูตรวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบคงที่ ดังต่อไปนี้

ดอกเบี้ยที่ต้องชำระทั้งหมด = ยอดขอสินเชื่อxอัตราดอกเบี้ยxจำนวนปี

ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยแบบคงที่

นาย ฮ.ต้องการซื้อรถยนต์ 200,000 บาท เงินดาวน์ 100,000 บาท ยอดขอสินเชื่อเช่าซื้อ 100,000 บาท และอัตราดอกเบี้ย(Flat Rate) 15% ต่อปี ผ่อน 60 งวด

ดอกเบี้ยที่ต้องชำระทั้งหมด = ยอดขอสินเชื่อxอัตราดอกเบี้ยxจำนวนปี
                                              = 100,000 * 15% * 5 ปี = 75,000 บาท

วิธีคำนวณค่างวดรถ

ค่างวด/เดือน = (ยอดขอสินเชื่อเช่าซื้อ+ดอกเบี้ยที่จ้องชำระทั้งหมด) + Vat7%/จำนวนงวด

สรุปว่า นาย ฮ.ต้องชำระค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 3,121 บาท

ในการคำนวณค่างวดรถ สังเกตว่าจะต้องมีการบวกเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย เมื่อได้ยอดที่ต้องผ่อนชำระแล้ว จะต้องบวก Vat7% ด้วย เพราะทุกการใช้จ่าย ย่อมมีภาษีที่ต้องจ่ายเสมอ ไม่ยากเลยใช่มั้ยค่ะสำหรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยธนาคารแบบคงที่ แตนอกจากอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่แล้ว ยังมีวิธีคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก

วิธีคิดดอกเบี้ยธนาคาร แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)

วิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบลดต้นลดดอก มักจะนำไปใช้ในในการคำนวณดอกเบี้ยเกือบจะทุกสินเชื่อเลยก็ว่าได้ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถแลกเงิน จำนำเล่มทะเบียนรถ หรือสินเชื่อบุคคล ซึ่งวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบลดต้นลดดอก จะทำให้ผู้กู้จ่ายหนี้ได้หมดไวขึ้น และยิ่งจ่ายค่างวดแบบโปะ ซึ่งทำให้เงินต้นลด ดอกเบี้ยยิ่งลดลงตาม แล้วเมื่อนำเงินต้นที่เหลือไปคำนวณค่างวดในงวดถัดไปแล้ว อาจจะทำให้คุณจ่ายค่างวดได้ถูกลงมาบ้าง โดยวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบลดต้นลดดอก มีสูตรวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบลดต้นลดดอก ง่าย ๆ ดังนี้

 

ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในงวดนั้น = เงินต้นคงเหลือxอัตราดอกเบี้ยต่อปีxจำนวนวันในงวด/จำนวนวันใน 1 ปี*

เงินต้นลดลง = จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในงวดนั้น – ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในงวดนั้น

เงินต้นคงเหลือ (เพื่อคำนวณดอกเบี้ยงวดถัดไป) = เงินต้นคงเหลือจากงวดก่อน – เงินต้นลดลง

ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก

นาย ก. ได้รับวงเงินสินเชื่อ 50,000 บาท เลือกผ่อน 36 งวด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 โดยสัญญาระบุต้องผ่อนชำระทุกวันที่ 1 ของเดือน อัตราดอกเบี้ย 24% ต่อปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 กันยายน 2563 จะเห็นว่าหากเรามีการจ่ายค่างวดตรงกำหนดทุกงวด จะทำให้ดอกเบี้ยและเงินต้นลดลงตามไปด้วย โดยสามารถคำนวณตามสูตรที่ให้ข้างต้นนี้ ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินในแต่ละเดือนล่วงหน้าได้

ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่าวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารแบบลดต้นลดดอก ช่วยให้ดอกเบี้ยลดลงในแต่ละเดือนได้แล้วนั้น แต่ก็ยังมีข้อควรระวังในเรื่องการจ่ายล่าช้า ผิดนัดชำระ จะทำให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เพราะดอกเบี้ยจะถูกคิดจากเงินต้นคงเหลือนั่นเอง ยิ่งจ่ายช้าดอกเบี้ยยิ่งเพิ่ม และยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมา เช่น ค่าปรับ ค่าติดตามทวงถาม เป็นต้น

แปลงดอกเบี้ยคงที่เป็นลดต้นลดดอก ทำให้รู้ว่าดอกเบี้ยไหนถูกแพง

เราจะเห็นว่าดอกเบี้ยทั้ง 2 แบบ มีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน แต่ถ้าจะให้นำมาเปรียบเทียบกันว่าแบบไหนถูกกว่าแพงกว่า ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงได้ แต่เราพอจะสามารถนำดอกเบี้ยแบบคงที่มาแปลงเป็นแบบลดต้นลดดอกได้คร่าว ๆ ก็สามารถทำได้ โดยเอา 1.8 คูณกับอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ดังตัวอย่างนี้

นายซี ต้องการซื้อรถมือสองจากเต็นท์รถ โดยกำลังตัดสินใจว่าจะซื้อรถจากเต็นท์ไหนดี เพราะทั้ง 2 แห่งมีดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน ระหว่างเต็นท์รถ A และเต็นท์รถ B

เต็นท์รถ/ผู้ให้เช่าซื้อ อัตราดอกเบี้ยต่อปี วิธีคิดดอกเบี้ย
A 4% เงินต้นคงที่
B 6% ลดต้นลดดอก

หากดูแค่เพียงตัวเลขจะพบว่า เต็นท์รถ A มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับเต็นท์ B แต่เมื่อมาดูที่วิธีคิดดอกเบี้ยแล้ว ซึ่ง 2 เต็นท์นี้มีการคิดดอกเบี้ยต่างกัน จึงนำดอกเบี้ยของเต็นท์รถ A มาแปลงเป็นดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก คือ 4%*1.8 = 7.2% จะเห็นว่าเมื่อ แปลงดอกเบี้ยคงที่เป็นลดต้นลดดอก พบว่า เต็นท์รถ A คิดดอกเบี้ยที่แพงกว่าเต็นท์ B แต่หากนำปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบกับการตัดสินใจ เช่น การให้บริการ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และความสะดวกในการชำระเงิน ดูแล้วทั้ง 2 เต็นท์รถนี้อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก
นี่เป็นการคำนวณดอกเบี้บทั้งแบบคงที่และดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เพื่อใช้ในการคำนวณดอกเบี้ย และนำไปสู่การคำนวณค่างวด แต่หากใครเคยไปติดต่อที่ธนาคารจะพบว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีกหลายประเภท หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อาจเคยคุ้นหูและไม่คุ้นหู เรามาทำความรู้จักกับอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่น ๆ ดังนี้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารที่ผู้กู้ควรรู้

ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ กำไรหรือผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้เรียกเก็บจากผู้ขอกู้ เช่น ธนาคาร หรือ ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank มักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี โดยผู้ให้กู้จะเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เพื่อเป็นผลตอบแทนจากการให้กู้ ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ เราจะพาไปทำความรู้จักกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่คุณอาจจะได้พบในการขอสินเชื่อกันค่ะ

ดอกเบี้ยแบบคงที่และดอกเบี้ยแบบลอยตัว

ดอกเบี้ยเงินกู้ เรียกได้ว่าเป็นกำไรที่ผู้ให้กู้ได้จากผู้กู้ หากแบ่งตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินกู้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้กู้กำหนดไว้แล้วตั้งแต่แรก จะไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น มีการกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี

2.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลง ไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน โดยจะมีการประกาศออกมาเป็นคราว ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เช่น MLR MOR MRR เป็นต้น

ทำความรู้จักกับ MLR MOR MRR คืออะไร

เมื่อกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว จะพบว่ายังมีอัตราดอกเบี้ยตัวอื่นเพิ่มขึ้นเข้ามาอีก บางคนดูแล้วอาจจะรู้สึกไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตามากนัก เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับอัตราดอกเบี้ยทั้ง 3 ตัวนี้เพิ่มเติมกันดีกว่าค่ะ

1.MLR (Minimum Loan Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ

2. MOR (Minimum Overdraft Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี

3. MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย

สำรวจความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ

ในการตัดสินใจขอสินเชื่อเชื่อว่าหลายคน มักจะตัดสินใจจากการนำหลายปัจจัยมาประกอบกัน ทั้งในเรื่องโปรโมชั่นต่าง ๆ ฟรีค่าธรรมเนียม ความสะดวกในการติดต่อขอสินเชื่อ หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ที่แต่ละแห่งจะมี่ค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องดอกเบี้ย ที่แน่นอนว่าหลายคนมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารว่าเป็นอย่างไร ให้วงเงินกู้เท่าไหร่ เปรียบเทียบในแต่ละปีอย่างน้อย 3-4 ปี เงื่อนไขเป็นแบบไหนเมื่อต้องกู้ในยะยาว ซึ่งมีสูตรวิธีคิดดอกเบี้ย ที่ผู้กู้สามารถคำนวณได้ด้วยตัวเอง แต่ก่อนที่เราจะมาดูสูตรวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคาร เพื่อสามารถนำวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารมาใช้ในการคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อที่เราต้องการนั้น มาสำรวจความพร้อมของตัวเองก่อนว่า คุณพร้อมที่จะขอสินเชื่อแล้วหรือยังค่ะ

1.จุดประสงค์ในการขอสินเชื่อ

คนที่กำลังตัดสินใจขอสินเชื่อ แน่นอนว่าต่างมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน ลองพิจารณาดูให้ดีก่อนว่า จำเป็นแค่ไหนที่จะขอสินเชื่อและพร้อมที่จะเป็นหนี้ในระยะสั้น ยาว ได้มากน้อยแค่ไหน

2.สำรวจความพร้อมทางการเงิน

ก่อนที่คุณจะขอสินเชื่อแต่คุณก็ยังมีหนี้สินก้อนอื่นที่กำลังชำระอยู่ อาจจะต้องสำรวจตัวเองเป็นพิเศษว่า หากมีหนี้ก้อนใหม่แล้วจะยังสามารถผ่อนชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ไหวหรือไม่ เพราะโดยปกติหากเรามีหนี้เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หรือเงินเดือนของเรา

3.ดูอัตราดอกเบี้ย

หลังจากที่เราพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยกันไปบ้างแล้ว เห็นได้ว่าเรื่องดอกเบี้ยมีความสำคัญไม่น้อย ลองสำรวจดูว่าหากมีการกู้ในระยะยาว สินเชื่อของสถาบันการเงินไหนมีดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำสุด ต้องมีการทำเปรียบเทียบทั้งวงเงินกู้ที่แต่ละสถาบันการเงินปล่อยให้กู้ เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เพื่อคำนวณได้ว่าตลอดอายุสัญญา เราต้องจ่ายดอกเบี้ยไปทั้งหมดกี่บาท

4.เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ในการยื่นขอสินเชื่อ จะยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ยังต้องจ่ายอีก เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าประกันค่าไถ่ถอนก่อนกำหนด เป็นต้น ลองศึกษาและเปรียบเทียบแต่ละแห่ง เพราะจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากันค่ะ

5.ศึกษาเงื่อนไขให้ดี

การอ่านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ เงื่อนไขในการขอสินเชื่อ จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับตัวเราเองได้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละแห่งอาจจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น อายุ รายได้ อาชีพ เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอสินเชื่อ เป็นต้น

6.เตรียมเอกสารให้พร้อม

หลังจากที่พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ จนตัดสินใจแล้วว่าจะต้องขอสินเชื่อ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมเอกสารตามที่สาถบันการเงินได้กำหนดเอาไว้ แต่ละสินเชื่อจะมีการขอเอกสารมากน้อยแตกต่างกันตามประเภทสินเชื่อ แต่โดยทั่วไปแล้วเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการขอสินเชื่อหลัก ๆ ได้แก่ เอกสารประจำตัว เอกสารเกี่ยวกับรายได้ เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและประเภทของสินเชื่อที่เรายื่นขอนั่นเอง

ในการขอสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถ สินเชื่อเช่าซื้อรถ สินเชื่อบ้านที่ดิน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล คุณควรจำเป็นที่จะต้องรู้จักวิธีคิดดอกเบี้ยธนาคารเพื่อช่วยให้คุณสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง ช่วยในการตัดสินเลือกขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยดีและเหมาะกับคุณมากที่สุด นอกเหนือจากนี้ การรักษาประวัติทางการเงินที่ดีก็มีส่วนช่วยให้การขอสินเชื่ออื่นของคุณในภายหลัง ด้วยการไม่มีการจ่ายล่าช้า ไม่ผิดนัดชำระ หรือไม่ค้างชำระ จะเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อของคุณให้ผ่านง่ายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะสถาบันการเงินจะสามารถดูประวัติและพฤติกรรมการชำระของคุณ เพื่อประกอบกับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพราะฉะนั้นอย่าลืมรักษาประวัติการเงินที่ดี เพื่อโอกาสในการขอสินเชื่อในอนาคตให้ผ่านง่ายขึ้นด้วยนะคะ

Heng Call center : โทร 1361

คุยกับเจ้าหน้าที่ของเราแบบ real – time ได้ แถมยังสามารถ ปรึกษา สอบถามข้อมูล ได้ทันที ไม่ต้องรอนาน กดเลย

ทักแชทกับเจ้าหน้าที่ผ่าน FB:Hengleasing และ Line:@Hengleasing ของเรา แล้วรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่

สมัครสินเชื่อออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง คลิก