“เปิดเทอมใหม่ทีไร เงินไม่พอใช้จ่ายทุกที” ใกล้จะถึงช่วงเปิดเทอมแล้ว เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านกำลังเตรียมหาซื้อชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน รวมถึงคอร์สเรียนพิเศษให้ลูก หลายคนก็ต้องวิ่งเอาของมีค่าไปขาย เอาทองไปจำนำ กู้ยืมเงิน เพราะเงินไม่พอใช้จ่าย ซึ่งเราเข้าใจดีว่าช่วงนี้สินค้าแพงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เงินเดือนก็แทบไม่ได้ขยับขึ้นตาม มีปัญหาติดขัด เงินขาดมือ ค่าใช้จ่ายก็มากมาย ทั้งผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าบัตรเครดิตอีกหลายใบ ผู้ปกครองหลายคนต่างก็เจอสถานการณ์แบบนี้กันทั้งนั้น

เมื่อคุณรู้ตัวว่าเงินไม่พอใช้ ก็ต้องกลับมามองพฤติกรรมของตัวเองและครอบครัวก่อนว่าได้ใช้จ่ายเกินตัว ในส่วนไหนไปบ้างรึเปล่า

  • สิ่งที่ทำเป็นประจำ

ลองสังเกตดูว่าร้านอาหารที่คุณไปทานอยู่บ่อยๆ เป็นสถานที่ดูดเงินของคุณหรือไม่? มีค่าใช้จ่ายประจำอะไรที่สามารถลดได้บ้าง และหลายคนไม่รู้ตัวว่ากาแฟที่ซื้อก่อนทำงานทุกวันสูบเงินคุณไปเดือนนึงเป็นหลายพันบาท (สมัยนี้กาแฟแก้วละร้อยกว่าบาทเลยนะ) หรือเปลี่ยนเป็นชงกาแฟดื่มเองที่ทำงาน น่าจะช่วยประหยัดมากขึ้น

  • ตามเทรนด์เกินไปรึเปล่า

คุณมักจะตามเทรนด์กับแฟชั่นหรือเทคโนโลยีมากเกินไปรึเปล่า เช่น ถ้ามีเสื้อผ้าแนวใหม่ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ คุณต้องรีบไปต่อคิวซื้อทันที ถ้าคุณกำลังทำอย่างนี้อยู่ ควรต้องปรับตัวหน่อย เพราะของเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

  • ชอบเป็นเจ้าแม่เงินผ่อน

คุณไม่ควรผ่อนของหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้คุณไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายคุณไปเท่าไหร่แล้ว กลับไปดูบิลบัตรเครดิตของคุณว่ามีสินค้าที่กำลังผ่อนอยู่กี่อย่าง และเดือนหน้าต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ ดอกเบี้ยที่คุณต้องจ่ายก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเครียดเวลาใกล้เปิดเทอมเช่นนี้

  • คิดทุกครั้งก่อนซื้อ

ความคิดที่ว่าถ้ามีนู่นมีนี่แล้วมันเท่ห์ เก๋  โก้ ดูหรู ดูแพง ของมันต้องมี อาจจะทำให้กระเป๋าตังค์ของคุณแห้งได้ง่ายๆ เหมือนกัน หรือเมื่อคุณเดินผ่านแล้วเห็นป้าย SALE ก็อยากซื้อของขึ้นมาทันที ถึงแม้ว่าคุณจะยังไม่ได้ใช้มันหรือแค่ซื้อเก็บไว้ก็ตาม นี่เป็นนิสัยที่อันตรายมาก ระวังการซื้อของที่ไม่จำเป็นด้วยนะคะ

  • ลูกมีทัศนคติเกี่ยวกับเงินอย่างไร?

ข้อนี้สำคัญมาก หากลูกของคุณมีทัศนคติที่ว่าเงินทำให้เขาดูดี ทำให้เพื่อนยอมรับ คงต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดนี้แล้วล่ะ เพราะส่วนใหญ่เด็กที่คิดอย่างนี้มักจะขอให้พ่อแม่ซื้อของราคาแพงๆ มากมายตลอดเวลา คุณควรจะสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของเงิน และรู้ว่าครอบครัวมีฐานะประมาณไหน เพราะการทำตัวรวยไม่ได้ทำให้ลูกเป็นคนรวย และความรวยนั้นไม่ได้ทำให้เขามีเพื่อนที่ดี ดังนั้น พ่อแม่ก็ควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ซื้อของหรือใช้จ่ายเกินตัว

จากผลสำรวจจากกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพในปี พ.ศ.2561 ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “พ่อแม่ยุคใหม่วางแผนอย่างไรเมื่อใกล้เปิดเทอม” โดยเก็บข้อมูลจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานศึกษาอยู่ในระดับชั้น อนุบาล-มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น1,175 คน มีผลสำรวจพบว่า

  • 70.6% เตรียมจัดสรรเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูกโดยเฉพาะ
  • 66.8% ระบบการศึกษาไทยมีความจำเป็นมากที่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ
  • 40.8% เน้นการเรียนด้านภาษาที่ 3 เพิ่มเติม เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น
  • 37.8% ให้เรียนพิเศษในวันธรรมดา และเสาร์-อาทิตย์

 

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ควรเตรียม ขอบคุณข้อมูลจาก : ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

 

ทางออกและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เมื่อประสบปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้จ่ายและหมุนเงินไม่ทัน ควรเริ่มจากตรงไหน และแก้ไขอย่างไรบ้าง?

  1. จดบันทึกรายรับ – รายจ่าย คุณควรจดบันทึกอย่างละเอียด เพื่อให้รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง ในบันทึกจะบอกว่าอะไรเป็นรายจ่ายจำเป็น อะไรเป็นรายจ่ายที่ควรตัดทิ้งไปได้ เพื่อป้องกันคำถามที่ว่า ‘เงินฉันหายไปไหน’
  2. ไม่ควรหนีหนี้ และไม่หันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ในขณะเดียวกัน คุณก็จะต้องไม่สร้างหนี้เพิ่ม โดยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด บัตรเครดิตหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นั้น ตัดไปได้เลย และหันมาจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสดแทนบัตรเครดิต  หนี้บัตรเครดิตจะได้ไม่งอกเพิ่มด้วย เพื่อให้หลุดจากวังวนของการเป็นหนี้ไม่รู้จบเสียที
  3. ปลดหนี้ก้อนใหญ่ให้หมดก่อน หากคุณชำระหนี้แบบเต็มวงเงินแล้วยังมีเงินเหลือพอสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ ให้กัดฟันจ่ายหนี้บัตรที่มียอดหนี้มากที่สุดให้หมดก่อน ส่วนบัตรใบที่หนี้น้อยค่อยชำระให้หมดโดยเร็วที่สุด แต่อย่าชำระเพียงขั้นต่ำ เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยอันเหี้ยมโหด
  4. รีไฟแนนซ์ ยืดระยะหนี้ ถ้าคุณใช้หนี้แล้วเหลือเงินไม่พอใช้สอยในชีวิตประจำวัน ลองยื่นรีไฟแนนซ์เพื่อยืดระยะหนี้ออกไป เพื่อให้คุณสามารถผ่อนเบาสบายขึ้น โดยจะต้องหาสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่อย่าลืมว่าระยะเวลาที่ต้องใช้หนี้จะยืดออกไปจากเดิม ดังนั้นควรวางแผนให้ดี  อย่าไปตกหลุมพรางหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้เก่า เพราะนอกจากไม่ช่วยแล้วยังเพิ่มภาระหนี้เข้าไปอีกด้วย
  5. หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสวัสดิการพนักงาน สหกรณ์ ถ้าคุณมีวินัยการใช้หนี้ การหันหน้าไปพึ่งพาคนในครอบครัวก็เป็นอีกทางหนึ่ง เพราะนอกจากไม่มีดอกเบี้ยแล้ว ระยะเวลาใช้หนี้ก็สามารถตกลงกันได้ด้วย แต่หากผิดนัดชำระอาจส่งผลถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้นะ
  6. ปรับโครงสร้างหนี้ ติดต่อเจ้าหนี้บัตรเครดิตเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคือการทำสัญญาใหม่ที่จะรวมเงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าติดตามหนี้ทั้งหมด ข้อดีก็คือช่วยยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินเดียวกัน อาจได้ข้อเสนอให้รวมหนี้มาเป็นยอดเดียว และคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม แต่อย่าลืมว่าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีระยะเวลาใช้หนี้ต่างกัน การคิดดอกเบี้ยก็อยู่ในอัตราที่ต่างกัน ถ้าไม่มีเงินจ่ายหนี้ในกรณีที่มีหนี้หลายอย่าง ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ เพราะถ้าผิดนัดแม้แต่งวดเดียวอาจถูกอายัดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนได้

นอกจากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้มีช่องทางในการจำนำฉุกเฉินรับช่วงเปิดเทอม นั่นคือ “สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร” (โรงรับจำนำ กทม.) จัดตั้งขึ้นโดยได้รับนโยบายจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือและสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำช่วงเปิดเทอมที่ต่ำลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษาด้วย ไม่ต้องหนีไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยพุ่งทะยานและน่ากลัว

การเตรียมตัวสำหรับการวางแผนการเรียนของคุณลูกไว้แต่เนิ่นๆ รวมถึงการเก็บออมเงินไว้จึงเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยประเมินจากรายได้และค่าใช้จ่ายปัจจุบันของครอบครัว และค่าใช้จ่ายในแต่ละปีของลูกว่ารวมเป็นเงินเท่าไร หากเตรียมเงินไว้เพียงพอแล้วจะต้องพยายามลดรายจ่ายส่วนใดและหารายได้เสริมในช่องทางใดเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้จ่ายในครอบครัวมีสภาพคล่องตัวอยู่เสมอ และการมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบไม่ได้ แปลว่า จะต้องมีบ้านหรูหราใหญ่โต มีรถหลายคัน มีทองมากมาย หรือเทคโนโลยีทันสมัยไว้ในบ้านเสมอไป เพราะการมีครอบครัวที่อบอุ่น ดูแลใส่ใจกัน และทุกคนในบ้านพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของครอบครัว