การให้-รับของขวัญ การเลี้ยงรับรองและค่าใช้จ่ายอื่นๆ 

นโยบาย
1. ไม่ให้ – รับของขวัญรูปแบบใด ๆ ของที่ระลึก ที่เป็นเงินสด เช็ค พันธบัตร หุ้น ทองคำ อัญมณี อสังหาริมทรัพย์หรือสิ่งของในทำนองเดียวกัน กับผู้ที่ทำธุรกิจกับบริษัทหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้เข้าไปติดต่อประสานงาน ทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน ในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการรับสินบน หรือติดสินบน

2. ไม่ให้ – รับของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของกำนัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด อันเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่พึงกระทำ และดำเนินงาน ตามข้อบังคับจรรยาบรรณบริษัท กฎระเบียบ วิธีการทำงาน และกฎหมาย

3. บริษัทไม่มีนโยบายการเสนอ เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ ของกำนัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด กับลูกค้าหรือคู่ค้าของบริษัท หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนหรือบุคคลใดๆ เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษที่ไม่ควรได้ หรือทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบข้อบังคับและข้อปฏิบัติทางกฎหมายที่กำหนดไว้

4. ผู้บริหารและพนักงาน ต้องให้ความสำคัญกับระบบการควบคุมภายในที่ได้มาตรฐานตามสายงานอาชีพที่เป็นสากล เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานและผลที่ได้รับถูกต้อง โปร่งใสตามที่ควร

5. การเลี้ยงรับรองและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเลี้ยงรับรอง การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจสามารถกระทำได้ แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล สามารถตรวจสอบได้ เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี และไม่เป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับ จรรยาบรรณบริษัท กฎระเบียบ วิธีการทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

6. การให้ – รับของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของกำนัล และสิทธิประโยชน์อื่นใดจะต้องเป็นไปตามประเพณีนิยม ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ไม่บ่อยครั้ง เหมาะสมกับโอกาส โดยมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ตอบแทน ทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม มีผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจและต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับ จรรยาบรรณบริษัท กฎระเบียบ วิธีการทำงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

แนวทางปฏิบัติ

1. การให้ของขวัญ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด
1.1 การให้ของขวัญ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดกับคู่ค้า หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆที่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นไปตามระเบียบประเพณีนิยมไม่บ่อยครั้งจนเกินไป โดยไม่หวังที่จะได้รับการบริการ สิ่งตอบแทน สิทธิพิเศษ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ
1.2 การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด กับคู่ค้า หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ควรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีราคาและมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท (ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543)
1.3 ผู้อนุมัติการให้ของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด ตามตารางอำนาจอนุมัติ ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ โอกาส และมูลค่าที่เหมาะสมก่อนการอนุมัติทุกครั้ง
1.4 ผู้ขออนุมัติต้องแสดงหลักฐานการให้ของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด ต่อเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน โดยนำหลักฐาน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน หนังสือขอบคุณ และหลักฐานประกอบอื่นๆ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบ

2. การรับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด
2.1 บริษัท ฯ มีนโยบาย งดรับของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดในทุกกรณีจากคู่ค้า หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆที่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือติดต่อประสานงานในนามของบริษัท ฯ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีการระบุไว้ในข้อ 2.2
2.2 บริษัท ฯ มีความจำเป็นต้องรับของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของ ของรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดและไม่สามารถส่งคืนได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้
– การปฏิเสธไม่รับจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และของขวัญดังกล่าวมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท
– เป็นการแลกเปลี่ยนหรือมอบของขวัญในงานที่เป็นทางการ เช่น การเยี่ยมชมบริษัทฯ ในฐานะเป็นวิทยากร การลงนามในสัญญา หรือในงานที่เป็นที่เปิดเผยทั่วไปต่อสาธารณชน เป็นต้น
– สินค้าส่งเสริมการขาย ที่มีโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ของบริษัทลูกค้าหรือคู่ค้า ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท
– สิ่งของที่ไม่มีการปกปิดหรือห่อหุ้ม สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและเป็นที่เปิดเผย โดยมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท
– ของขวัญที่กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร หรือผู้บริหารสูงสุดในแต่ละฝ่ายให้สามารถรับได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ กำหนดวิธีการหรือแนวทางปฏิบัติเมื่อได้รับของขวัญ ทรัพย์สิน สิ่งของหรือของรางวัล ดังนี้
– กรณีปฏิทิน ไดอารี่ ที่ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัท พนักงานสามารถรับเป็นของขวัญส่วนตัวได้
– กรณีเป็นของบริโภคซึ่งมีวันหมดอายุน้อยกว่า 1 เดือน ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้างาน/ผู้บังคับบัญชาส่วนงานที่ได้รับของขวัญในการบริหารจัดการ แจกจ่ายในส่วนงานของตน หรือแบ่งบันให้หน่วยงานอื่นๆ
– กรณีเป็นการรับในนามบริษัทฯ ของขวัญ ของที่ระลึกดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้นำไปไว้ที่ส่วนกลาง

2.3 บริษัทฯ มิให้รับของขวัญในกรณีดังต่อไปนี้
– ของขวัญที่เป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด
– ของขวัญที่ผิดกฎหมาย หรือผิดกฎเกณฑ์
– ของขวัญที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเป็นการต่างตอบแทนกัน
– ของขวัญจากลูกค้า หรือคู่ค้า ที่ให้เพื่อแลกกับการทำหน้าที่หรือบริการจากบริษัทฯ

3. การเลี้ยงรับรอง

การเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ เช่น การเลี้ยงรับรองอาหาร การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางธุรกิจ หรือเป็นจารีตการค้า รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจทางธุรกิจสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน หรือละเลยหน้าที่ ความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติ หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

3.1 การเลี้ยงรับรอง ผู้ขออนุมัติต้องบันทึกข้อความอนุมัติอย่างชัดเจน โดยระบุรายละเอียด วัตถุประสงค์ สถานที่ หน่วยงานที่จะเลี้ยงรับรอง พร้อมแนบเอกสารประกอบการพิจารณา เช่น ใบเสนอราคา เป็นต้น เสนอให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ พิจารณาอนุมัติตามวงเงินและตามระเบียบข้อบริษัท
3.2 ผู้อนุมัติควรมีการตรวจสอบการขออนุมัติ โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ โอกาส และมูลค่าที่เหมาะสมก่อนการอนุมัติทุกครั้ง
3.3 ผู้ขออนุมัติต้องแสดงหลักฐานการเลี้ยงรับรองต่อฝ่ายบัญชีและการเงิน โดยนำหลักฐาน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน หนังสือขอบคุณ และหลักฐานประกอบอื่นๆ มาแสดงเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบ