เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก  (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 โดยมีการเพิ่ม ค่าปรับจราจร ใหม่รวมไปถึงการเพิ่มอัตราโทษหนักจากเดิมทั้งการจำและปรับ วันนี้เราจึงได้รวบรวมและอัพเดท ค่าปรับจราจรในอัตราใหม่ 2565 เรามาดูกันว่ามีข้อไหนบ้างที่มีการปรับเพิ่มอัตราค่าปรับกันค่ะ

กฎหมายจราจรใหม่เพิ่ม ค่าปรับจราจร ข้อไหนบ้าง

กฎหมายจราจร มีความสำคัญกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน เพื่อสามารถนำปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจราจร ที่กำหนดไว้ เพราะกฎหมาย เป็นสิ่งที่สร้างออกมาเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ควบคุมการกระทำไม่ให้สร้างความเสียหายกับผู้อื่น แต่หากเมื่อไหร่ที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือละเลยกฎจราจร การจ่ายค่าปรับจราจรหรือได้รับโทษตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยค่าปรับจราจรจะมีตั้งแต่การเสียค่าปรับจราจรไปจนถึงจำคุกเลยทีเดียว และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการปรับปรุงกฎหมายจราจรใหม่ และมีการเพิ่มในส่วนของอัตราค่าปรับจราจรใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 65 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ในช่วง 3 เดือนแรกนี้ ยังใช้อัตราค่าปรับจราจรเดิมก่อนตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องเกณฑ์ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ พ.ศ.2563 เพื่อให้เวลาประชาชนได้มีการปรับตัวนั่นเอง โดยมีการเพิ่มโทษปรับในข้อที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง ได้แก่ ความเร็วในการใช้รถ การฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ทางม้าลาย การสวมหมวกนิรภัย การเพิ่มโทษปรับที่ผู้ขับขี่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น เมาแล้วขับ การรัดเข็มขัดนิรภัย รวมไปถึงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี หรือคาร์ซีท ทั้งนี้เราจะมาลงรายละเอียดในส่วนของอัตราค่าปรับจราจรและบทบลงโทษเพิ่มเติมในแต่ละข้อกันค่ะ

ค่าปรับจราจรปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

การเพิ่มค่าปรับจราจรสำหรับปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยอาจก่อให้เกิดการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทางได้แก่

1.การขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยมีการกำหนดอัตราความเร็วดังต่อไปนี้

ข้อกำหนดในการใช้ความเร็วบนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ดังนี้

1.1 รถยนต์ วิ่งไม่เกิน 120 กม./ชม.

1.2รถเลนขวาสุด วิ่งไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ส่วนรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กก. หรือรถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน วิ่งได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.

1.3 รถจักรยานยนต์ วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.

1.4 รถจักรยานยนต์ 400 cc (บิ๊กไบค์) ขึ้นไปวิ่งไม่เกิน 110 กม./ชม.

1.5 รถโรงเรียน วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.

1.6 รถโดยสาร 7-15 คน วิ่งไม่เกิน 100 กม./ชม.

1.7 รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม วิ่งไม่เกิน 45 กม./ชม.

1.8 รถลากจูง รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ วิ่งไม่เกิน 65 กม./ชม.

2.ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

3.ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

4.ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท

5.ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท

6.ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ส่วนรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอน ( รถกระบะ 4 ประตู ) ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย

ค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น

การเพิ่มค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น ได้แก่ การเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท

1.หากมีการทำผิดครั้งแรก  โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.หากมีการทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทำความผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีท

ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 ทั้งนี้ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการประชุมหารือ กับนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกรมการขนส่งทางบกจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธ.ค. 2565

ค่าปรับจราจรหากมีการแข่งหรือจัดแข่งรถในทางสาธารณะ

1.การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทางด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิเช่น นัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือรถดัดแปลง ปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง  โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือค่าปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.หากเป็นผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ หรือชักชวนแข่งรถ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ร้านที่รับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

*ข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลาง

เสียค่าปรับจราจรที่ไหนได้บ้าง

หากคุณเผลอทำผิดกฎหมายจราจรและได้รับใบสั่งเพื่อไปเสียค่าปรับ แต่เดียวนี้คุณไม่ต้องเดินทางไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจเพียงช่องทางเดียวแล้ว เพราะคุณยังสามารถเดินทางไปจ่ายค่าปรับจราจรได้ที่ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตู้ ATM และตู้ ADM กรุงไทย Counter Service CenPay ตู้บุญเติม ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือจุดที่มีสัญลักษณ์ PTM ทั่วประเทศ แอปพลิเคชันเป๋าตัง และยังสามารถจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT โดยนอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสอบใบสั่งอออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางในการชำระค่าปรับและเช็กได้ว่าเรามีใบสั่งออนไลน์ที่ค้างชำระหรือไม่ได้อีกด้วย โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ ptm.police.go.th คลิก โดยมีขั้นตอนในการตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ได้อย่างไร

1.ลงทะเบียนผู้ใช้งานเว็บไซต์ คลิก โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชน  

2.ดำเนินการเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้

3.ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด เลือกปุ่ม “ค้นหา” (สามารถใส่ข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถหรือหมายเลขใบสั่งได้)

4.หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ สามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครองครองคนเดียวกัน)

เทคนิคและมารยาทในการขับรถยนต์

ในฐานะที่ต่างคนต่างใช้ถนนหนทางร่วมกัน อย่างน้อยการทำตามกฎหมายจราจรและมีมารยาทให้การขับขี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มความปลอดภัยและมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมทางอีกด้วย มารยาทเบื้องต้นที่ผู้ขับขี่ควรมีขณะใช้รถใช้ถนนมีดังนี้

มารยาทในการขับรถยนต์ให้ปลอดภัย

1.หยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลาย

เราจะพบว่ามีข่าวรถชนคนข้ามถนน โดยเฉพาะข้ามบนทางม้าลายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถ หากพบว่ามีคนอยู่บนทางเท้าและกำลังจะเดินข้ามทางม้าลาย ผู้ขับควรชะลอ แตะเบรก และให้สัญญาณไฟขอทาง เพื่อให้คนข้ามทางม้าลายให้เรียบร้อยก่อนจึงจะขับรถออกไปได้ ซึ่งที่ต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

2.ไม่ขับรถแช่ขวา

เลนทางขวาเป็นเลนสำหรับรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูง แม้ว่าคุณขับรถตามความเร็วที่กฎหมายจราจรกำหนด แต่หากคุณวิ่งรถด้วยความเร็วคงที่ ก็ไม่ควรจะขับรถแช่ชวา เพราะจะทำให้การจราจรติดตัด รถคันหลังไม่สามารถไปก่อนได้ คุณจะสังเกตได้ว่าหากคุณขับรถแช่ขวาแล้วมีรถคันหลังขับจี้ท้ายคุณ คุณจะต้องเปิดไฟเลี้ยวซ้าย และหลบให้คันหลังที่มาด้วยความเร็วกว่าไปก่อน

3.รักษาระยะห่างจากคันหน้า

หากคุณขับรถมาด้วยความเร็วปกติ ควรจะเว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ประมาณ 100 เมตร ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. และ 80 เมตร ที่ความเร็ว 80 กม./ชม.เพื่อให้คุณมีระยะเบรกรถได้ทัน เป็นการป้องกันหากรถคันข้างหน้าของคุณเบรกกระทันหันไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม

4.ระวังการใช้ไฟสูง

ไม่ควรเปิดไฟสูงขณะที่ขับรถสวนกับคันอื่น เพื่อจะได้ไม่เป็นการรบกวนสายตาผู้ขับรถคนอื่น

5.ให้สัญญาณไฟก่อนแซง

หากต้องการแซงรถ ควรให้สัญญาณไฟ ใช้ความเร็วที่จะแซงอย่างเหมาะสม และเว้นระยะการแซงรถเพื่อที่จะกลับเข้าเลนปกติ ไม่อยู่ในระยะประชิดจนเป็นการปาดหน้ารถ นอกจากนี้ไม่ควรแซงขวาเข้าไปในเลนรถสวนทาง

6.ไม่ขับรถตัดหน้าคันอื่น

หากจะต้องทำการเปลี่ยนเลนรถ  ควรจะต้องมองกระจกหลัง ให้สัญญาณไฟ รอให้รถคันอื่นไปแล้ว จึงจะสามารถเลี้ยวรถ หรือเปลี่ยนรถได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นการขับรถตัดหน้าคันอื่น จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้

การเพิ่มโทษและค่าปรับจราจร เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน กฎหมายจราจรเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่รถทุกคนต้องรู้และปฏิบัติตามตามที่กฎหมายกำหนด การฝ่าฝืนกฎหมายจราจรนอกจากจะทำให้มีโทษทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังทำให้คนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับคุณ ได้รับผลกระทบจากความประมาทของคุณอีกด้วย ทั้งนี้อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่คาดฝันและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเพื่อความอุ่นใจในการใช้รถใช้ถนน แนะนำให้ทำประกันภัยรถยนต์ติดรถไว้สักแผน หากเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้นมา อย่างน้อยบริษัทประกันจะได้เข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้แทน แนะนำประกันภัยรถยนต์ ผ่อน 0% ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนที่เฮงลิสซิ่ง รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่