ก่อนต่อภาษีรถยนต์จะต้องมีการ ตรวจสภาพรถยนต์ เพื่อเป็นการตรวจสอบว่ารถยนต์ของคุณมีสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ เพราะถ้าหากตรวจสภาพรถยนต์ไม่ผ่านจะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ในขั้นตอนต่อไปได้ ทั้งนี้การตรวจสภาพรถยนต์ที่ตรอ.ตรวจอะไร เตรียมเงินเท่าไหร่ และใช้เอกสารอะไรบ้าง บทความนี้มีคำแนะนำมาฝากค่ะ  

ตรวจสภาพรถยนต์ ตรวจอะไรบ้าง

ในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก่อนที่จะสามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้นั่นก็คือการต่อพ.ร.บ.รถยนต์ และเข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบก หรือตรวจสภาพรถยนต์ที่ตรอ.ใกล้บ้านที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอเอกสารการันตีว่า รถของคุณนั้นได้ตรวจสภาพรถยนต์ผ่านแล้วและสามารถขับขี่ได้ตามมาตรฐานโดยขั้นตอนการนำรถให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ จะเห็นว่ามีทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เข้ามาใช้ในการตรวจสภาพรถยนต์ของคุณ แต่หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่าตรอ.ตรวจสภาพรถยนต์ ตรวจส่วนไหนของรถบ้าง โดยในขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ มีขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ส่วนไหนบ้างดังนี้

ตรวจสอบเล่มทะเบียนหรือสำเนาทะเบียนรถยนต์ก่อน

การตรวจเล่มทะเบียนรถยนต์ก่อนตรวจสภาพรถยนต์นั้น เป็นการตรวจสอบว่ารายละเอียดรถยนต์ ชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง ว่ามีความถูกต้องตรงกับรถยนต์ของคุณหรือไม่ หากรถของคุณมีการติดแก๊ส จะต้องมีใบตรวจสภาพระบบแก๊ส LPG และ NGV มาก่อนที่จะนำรถมาเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. ถ้าหากไม่มีใบตรวจสภาพระบบแก๊ส จะยังไม่สามารถตรวจสภาพรถยนต์ได้ และการติดตั้งแก๊ส LPG/NGV ต้องลงเล่มแล้วเท่านั้น

ตรวจสภาพรถยนต์ภายนอก 

เป็นการตรวจส่วนต่าง ๆ ภายนอกรถว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้ปกติหรือไม่ เช่น ล้อและยาง ศูนย์ล้อ ระบบไฟส่องสว่าง  ค่าไฟพุ่งไกล ไฟพุ่งต่ำ ตำแหน่งไฟพุ่งไกล ด้านซ้าย-ขวา ตำแหน่งไฟพุ่งต่ำ ด้านซ้าย-ขวา สภาพตัวถังและโครงรถ ประตูและพื้นรถ ปัดน้ำฝน เป็นต้น 

ข้อควรรู้ การทดสอบศูนย์ล้อคู่หน้า โดยขับรถผ่านเครื่องทดสอบด้วยความเร็วประมาณ 3-5 กม./ชม. ในขณะที่ล้อหน้าผ่านเครื่องทดสอบ ค่าเบี่ยงเบนของศูนย์ล้อหน้าจะต้องไม่เกิน +-5 เมตรต่อกิโลเมตร

ตรวจสภาพรถยนต์ภายใน

แตรรถยนต์ มาตรวัดความเร็ว เข็มขัดนิรภัย เบรกมือ เบรกเท้า ประสิทธิภาพห้ามล้อ ประสิทธิภาพเบรกมือ แรงห้ามล้อของแต่ละล้อ น้ำหนักลงเพลาหน้า-หลัง

ข้อควรรู้ การทดสอบระบบเบรกโดยการเหยียบเบรกจนสุด   

เบรกมือ แรงเบรกทุกล้อ รวมกันไม่น้อยกว่า 20% ของน้ำหนักรถ

เบรกเท้า แรงเบรกทุกล้อ รวมกันไม่น้อยกว่า 50% ของน้ำหนักรถ

ผลต่างของแรงเบรก ผลต่างแรงเบรกล้อซ้าย-ขวาต้องไม่เกิน 25% ของแรงเบรกสูงสุดในเพลานั้น

ตรวจสภาพใต้ท้องรถ

ระบบบังคับเลี้ยวและพวงมาลัย ถังเชื้อเพลิง และท่อส่ง เครื่องล่าง หมายเลขเครื่องยนต์

ตรวจค่าไอเสีย-วัดเสียงท่อไอเสีย

ตรวจวัดขณะเครื่องยนต์เดินเบาในขณะเกียร์ว่าง ปิดระบบปรับอากาศ โดยวัดปริมาณ CO และ HC จากปลายท่อไอเสียจำนวน 2 ครั้ง แล้วจึงนำค่ามาหาเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ดังนี้

การตรวจสอบค่าไอเสีย 

ต้องผ่านเกณฑ์วัดค่าก๊าซ CO และ HC โดยแยกประเภทรถและตามปีจดทะเบียนรถ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (เก๋ง) จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 – 31 ธ.ค. 2549 CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 HC ไม่เกินร้อยละ 200 ส่วนในล้านส่วน รถยนต์อื่นนอกจากข้อ 1 ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค. 2550 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือรถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 0.5 HC ต้องไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน

การตรวจวัดควันดำ

จะตรวจวัดขณะเร่งเครื่องประมาณ 3-4 พันรอบ ในเกียร์ว่างและปิดแอร์ ผ่านเครื่องมือวัดแบบกระดาษกรอง (Filter) โดยเก็บค่าควันดำจำนวน 2 ครั้ง ใช้ค่าที่วัดได้สูงสุด ค่าควันดำต้องไม่เกิน 50% และเครื่องมือวัดระบบวัดความทึบแสง (Opacity) ค่าควันดำต้องไม่เกิน 45%

การวัดความดังของท่อไอเสีย

กรณีเป็นเครื่องยนต์ดีเซล จะเร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่ง ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน จะเร่งเครื่องยนต์ประมาณ 3 ใน 4 ของรอบที่ให้กำลังม้าสูงสุดจนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงานด้วยความเร็วรอบคงที่ ค่าระดับเสียงสูงสุดต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ

การรายงานผลการตรวจสภาพรถ

รถที่ผ่านการตรวจสภาพรถยนต์เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ตรอ.จะจัดพิมพ์รายงานผลการตรวจสภาพรถจากระบบสารสนเทศของกรมการขนส่งทางบก โดย ตรอ.จะจัดเก็บเอกสารส่วนที่ 1 และมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้กับผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยถือเป็นใบรับรองการตรวจสภาพและให้มีอายุ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผ่านการตรวจสภาพรถ

กรณีไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการตรวจสภาพและข้อบกพร่องให้ผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพรับทราบ พร้อมทั้งมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้เจ้าของรถเพื่อให้เป็นหลักฐานในการตรวจสภาพรถอีกครั้งภายหลังจากแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว โดยมีรายละเอียดการตรวจสภาพรถใหม่ ดังนี้

1.กรณีตรวจสภาพรถยนต์ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรก ให้ตรวจเฉพาะรายการข้อบกพร่องที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพ

2.กรณีตรวจสภาพรถใหม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรกให้ตรวจสภาพรถยนต์ใหม่ทุกรายการ

ทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ได้มีบัญญัติว่า รถที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี โดยนับตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก จนถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี เช่น หากรถเก๋งของคุณจดทะเบียนปี พ.ศ.2565 เมื่อครบ 7 ปี จะต้องเข้ารับตรวจสภาพรถปี พ.ศ.2572 ทั้งนี้การตรวจสภาพรถก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนที่ใช้รถใช้ถนนคนอื่น และสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งรถที่นำมาใช้บนท้องถนน ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยรถที่ต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีนั้น ได้แก่

1.รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป

2.รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป

3.รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป

4.รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้คุณสามารถนำรถไปตรวจสภาพรถล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี โดยนำเอกสารเข้าไปศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. หากผลการตรวจสภาพรถผ่าน สถานตรวจสภาพรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แต่หากพบว่ารถไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพจะแจ้งให้เจ้าของรถทราบ เพื่อนำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องก่อน แล้วจึงนำรถมาตรวจสภาพรถใหม่ที่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. เดิมอีกครั้งภายใน 15 วัน แต่จะเสียค่าตรวจสภาพในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการเดิม แต่หากเกิน 15 วัน หรือนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. อื่น จะเสียค่าบริการตรวจสภาพรถเต็มอัตราเหมือนเดิม

ตรวจสภาพรถใช้อะไรบ้าง

ทุกปีสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถทุกคนจะต้องมีการนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของคุณไปต่อภาษี จะต้องนำรถของตนไปตรวจสภาพรถก่อนทำการเสียภาษีรถ รถที่จะนำไปตรวจสภาพจะต้องเป็นรถยนต์ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป แต่สำหรับคนที่เพิ่งมีรถอายุใช้งานครบตามที่กำหนด อาจจะสงสัยว่าจะ ตรวจสภาพรถใช้อะไรบ้าง  สำหรับการตรวจสภาพรถใช้อะไรบ้าง นั้นมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน

สิ่งที่ต้องเตรียมในการตรวจสภาพรถใช้อะไรบ้าง  

1.สมุดทะเบียนรถ หรือสำหรับผู้ที่เอารถเข้าไฟแนนซ์อยู่ หรือรถที่กำลังผ่อนอยู่ จะไม่มีสมุดทะเบียนรถ ก็สามารถนำสำเนาทะเบียนรถใช้ในการตรวจสภาพรถได้

2.รถที่จะนำไปตรวจสภาพ

3.ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถประจำปี 

3.1 รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม

3.2 รถยนต์ (รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้) ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท

3.3 รถจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ Big Bike คันละ 60 บาท

รถที่ไม่สามารถนำไปตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ.

โดยปกติแล้วหลายคนเลือกให้บริการตรอ.เพื่อตรวจสภาพรถและฝากต่อภาษี แต่มีรถบางลักษณะที่ต้องนำไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น คือรถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนี้

1.รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ ยกตัวอย่างเช่น รถเคยยกเครื่องแล้วเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ใส่แทน เปลี่ยนลักษณะรถผิดไปจากเดิม เป็นต้น

2.รถที่ไม่สามารถตรวจสอบเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ได้ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขเลข ขูด ลบ หรือไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้

3.รถที่เจ้าของแจ้งไม่ใช่รถชั่วคราว หรือไม่ใช้ตลอดไปไว้

4.รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า เช่น กท-00001,กทจ-0001 จึงต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อนำมาเสียภาษีประจำปี

5.รถที่มีปัญหาเคยถูกขโมยแล้วได้คืน

6.รถที่ขาดต่อทะเบียนเกิน 1 ปีม คันละ 200 บาท รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 บาท กิโลกรัม คันละ 300 บาท

ตรวจสภาพรถแล้ว อย่าลืมซื้อพ.ร.บ.ก่อนต่อภาษี

หลังจากที่ตรวจสภาพรถเรียบร้อยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก่อนที่จะต่อภาษีรถคือ การซื้อพ.ร.บ.เพื่อเป็นการทำประกันภัยให้แก้ผู้ประสบภัยจากรถในกรณีที่รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ โดยคุ้มครองทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และคู่กรณีหรือบุคคลภายนอก หากไม่ต่อพ.ร.บ.ก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถได้ จึงจำเป็นจะต้องซื้อพ.ร.บ.ทุกปี โดยจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทนดังนี้

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริงคนละไม่เกิน 80,000 บาท

2.ค่าสินไหมทดแทน กรณี สูญเสียอวัยวะ*/ทุพพลภาพอย่างถาวรหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สูงสุดคนละ 500,000 บาท  

3.ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต สูงสุดคนละ 500,000 บาท

4.เงินชดเชยกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

หมายเหตุ *กรณีสูญเสียอวัยวะ เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

พ.ร.บ.จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัท พ.ร.บ.ได้รับคำร้องขอ โดยไม่รอการพิสูจน์ความรับผิด ดังนี้

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริง คนละไม่เกิน 30,000 บาท

2.ค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร   คนละไม่เกิน 35,000 บาท

3.ค่าปลงศพ ไม่เกิน 35,000 บาท

4.หากเกิดความเสียหาย หลายกรณีรวมกัน จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันแล้วไม่เกินคนละ 65,000 บาท

หมายเหตุ :กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกัน  จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

การตรวจสภาพรถยนต์ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เพราะหากตรวจสภาพรถยนต์ไม่ผ่านก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้ นอกจากนี้การตรวจสภาพรถยนต์ยังเป็นการเช็กความพร้อมของรถยนต์ว่าในแต่ละส่วนของรถยนต์มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ทั้งนี้หากรถยนต์ของคุณใกล้เวลาที่ต้องต่อภาษีรถยนต์ประจำปีก็สามารถนำรถยนต์ไปตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีล่วงหน้าได้ นอกจากการตรวจสภาพรถยนต์แล้ว ผู้ขับขี่ควรหมั่นสังเกตการทำงานของรถว่ามีความผิดปกติ เสียงแปลกๆ ในส่วนไหนหรือไม่ หรือมีสัญญาณเตือนบนหน้าปัดรถหรือไม่ เพื่อหากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับรถ คุณจะได้นำรถไปตรวจเช็กที่อู่ซ่อมรถหรือศูนย์บริการเพื่อทำการซ่อมแซมต่อไป หรืออย่างน้อยการทำประกันรถยนต์ติดรถไว้สักแผน ช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา บริษัทประกันยังมีบริการช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกันอีกด้วย สนใจศึกษาละเอียดเกี่ยวกับการทำประกันรถยนต์เพิ่มเติม คลิก