นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

คำนิยาม

การทุจริตคอร์รัปชั่น” หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด โดยการเสนอ การสัญญา การมอบ การเรียกร้อง การให้หรือการรับสินบน การให้ของขวัญหรือบริการ การให้เงินสดหรือสิ่งของแทนเงินสด หรือ การให้ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเงินหรือประโยชน์อื่นๆ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน คู่ค้า ลูกค้า กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานภายในกลุ่มบริษัทและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือการกระทำพฤติกรรมใดๆ ที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจหรือเพื่อรักษาหรือแนะนำ ธุรกิจให้กับบริษัทใดโดยเฉพาะ หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่เหมาะสมตามจรรยาบรรณและนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

การช่วยเหลือทางการเมือง” หมายถึง การช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงินหรือในรูปแบบอื่น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เช่น การให้สิ่งของหรือบริการ การโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง การซื้อบัตรเข้าชมงานที่จัดระดมทุน หรือบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เพื่อสนับสนุนนโยบาย เป็นการทั่วไป หรือเฉพาะเจาะจงโดยไม่เป็นการกระทำใดที่ขัดต่อกฎหมาย หรือส่งผลเสียต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อม

การให้-รับของขวัญ เงินสนับสนุน สิ่งของและการเลี้ยงรับรอง” หมายถึง การเสนอให้หรือรับของขวัญ สิ่งของ ของกำนัล หรือสิทธิผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งอาจจะคำนวณได้เป็นตัวเงิน จากลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เครื่องหมายการค้า หรือชื่อเสียงของกลุ่มบริษัท เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ให้ในโอกาสที่เหมาะสม รวมถึงต้องการโน้มน้าวให้กระทำการบางอย่างที่ไม่สุจริต ผิดกฎหมาย หรือผิดจรรยาบรรณของบริษัท

การบริจาคเพื่อการกุศล” หมายถึง การบริจาคเงิน สิ่งของหรือสิ่งอื่นใดที่สามารถคำนวณได้เป็นตัวเงิน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะในประเทศไทย เช่น การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และความหมายรวมถึง เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมหรือปลูกจิตสำนึกต่อสังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อการสาธารณประโยชน์และเพื่อการศึกษา และรายจ่ายเพื่อการกีฬา โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) จะต้องไม่เรียกร้อง ยอมรับ หรือกระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และคนรู้จัก ไม่ว่าตนจะอยู่ในฐานะเป็นผู้ให้ ผู้รับ หรือผู้เสนอให้สินบน ทั้งที่เป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงิน แก่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจหรือติดต่อด้วย โดยจะปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด ตลอดจนจัดให้มีการสอบทาน และทบทวนการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กร

  1. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดและอนุมัตินโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการบริหารตระหนักถึงความสำคัญ และได้นำไปปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รายงานการกระทำการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ พิจารณาบทลงโทษ และร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการบริหาร

  1. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
    2.1 สอบทานรายงานการตรวจสอบระบบควบคุมภายในและประเมินความเสี่ยง เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่สำนักตรวจสอบภายในได้เสนอ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทน้อยที่สุด และมีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจของบริษัท
    2.2 รับทราบเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งภายในและนอกองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง จากคณะกรรมการสอบสวน และนำเสนอเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการบริษัทร่วมกันพิจารณาลงโทษหรือแก้ปัญหาดังกล่าว ตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
  2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองนโยบายและแนวทางบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท รวมทั้งประเมิน ติดตาม ทบทวนความเพียงพอของนโยบาย ระบบบริหารความเสี่ยงและโอกาสการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานตรวจสอบภายใน
  3. คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่และรับผิดชอบ ดังนี้
    4.1 กำหนดให้มีระบบและนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมถึงให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายดังกล่าว หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น และฝ่าฝืนกฎหมายพร้อมทั้งปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
    4.2 ช่วยเหลือคณะกรรมการตรวจสอบในการสืบหาข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้งหรืองานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดกฎหมาย
  4. สำนักตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
    5.1 ตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานตามแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้ว่าเป็นไปอย่างไร ถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนดและกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชั่น ที่อาจเกิดขึ้นและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
    5.2 ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้มอบหมาย ในเรื่องการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร นอกเหนือจากแผนการตรวจสอบภายในที่ได้กำหนดไว้

การทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทจะดำเนินการทบทวนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นและเอกสารอ้างอิงทุกๆ 2 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญ