หากพูดถึงป้ายวงกลม คนสมัยนี้อาจจะไม่ค่อยพูดถึงมากนัก หรืออาจจะไม่รู้จัก แต่หากเรียกว่าป้ายภาษี เชื่อว่าหลายคนรู้จักแน่นอนว่าป้ายสี่เหลี่ยมสีชมพูสีฟ้าที่แปะอยู่หน้ากระจกรถเป็นหลักฐานที่แสดงการเสียภาษีรถประจำปีของรถคันนั้นนั่นเอง ทั้งป้ายวงกลมและป้ายภาษีมีความหมายเดียวกัน แต่ทำไมเรียกชื่อต่างกันเรามีคำตอบมาฝาก

ป้ายวงกลม หรือ ป้ายภาษีสำคัญอย่างไร?

ป้ายภาษี หรือ ป้ายวงกลมที่เรารู้จักกันนั้น คือ ป้ายที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของรถได้ชำระภาษีประจำปีแล้ว โดยวันเดือนปีที่อยู่บนป้ายวงกลมหรือป้ายภาษี จะเป็นวันสิ้นสุดอายุของภาษี โดยบางคนยังเรียกป้ายภาษีว่าป้ายวงกลม เพราะ สมัยก่อนป้ายภาษีมีลักษณะเป็นวงกลม ภายหลังแม้ว่าจะเปลี่ยนเป็นป้ายสี่เหลี่ยมแล้วก็ยังคงมีการเรียกกันติดปากว่าป้ายวงกลมนั่นเอง 

ต่อภาษีรถยนต์ (ป้ายวงกลม) ต้องทำอย่างไร?

กรมการขนส่งทางบก เพิ่มความสะดวกให้กับเจ้าของรถมากขึ้นโดยไม่ต้องไปทำเรื่องต่อภาษีรถยนต์ที่ขนส่ง ด้วยช่องทางเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th โดยมีเงื่อนไขของรถสำหรับการยื่นต่อภาษีรถยนต์ (ป้ายวงกลม) ดังนี้

เงื่อนไขรถสำหรับการยื่นต่อภาษีรถยนต์ (ป้ายวงกลม)

  1. เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) และรถจักรยานยนต์ (รย.12) ที่จดทะเบียนทุกจังหวัด
  2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถประเภท , รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ,รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปีนับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก และรถจักรยานยนต์ ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี นับจากวัน
  3. จดทะเบียนครั้งแรก ต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อนชำระภาษี
  4. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถประเภท , รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ,รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม หรือที่ไม่ต้องขอรับความเห็นชอบก่อนชำระค่าภาษีประจำปี
  5. รถที่ค้างชำระค่าภาษีประจำปี เกิน 1 ปี ต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)ก่อนชำระภาษี
  6. ไม่ใช่รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (แก๊ส) ทุกชนิดเป็นเชื้อเพลิง
  7. เป็นรถที่มีสถานะทางทะเบียน หรือไม่ถูกระงับทะเบียนเนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปี ติดต่อกันครบ 3 ปี
  8. ไม่ใช่รถที่ได้รับการยกเว้นค่าภาษีประจำปี
  9. ไม่ใช่รถที่ถูกอายัดทะเบียน
  10. ชำระภาษีประจำปีล่วงหน้าไม่เกิน 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี

คำนวณภาษีรถยนต์ (ป้ายวงกลม)

รถแต่ละรุ่น มีอัตราการจ่ายภาษีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น รุ่นรถ ประเภทรถ ขนาดเครื่องยนต์ ซี.ซี.รถ อายุรถ น้ำหนักรถ เป็นต้น โดยมีรายละเอียดภาษีรถยนต์ ดังนี้

1.รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือดำ (ป้ายดำ)

รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งอย่างเช่นรถเก๋งทั่วไป, รถกระบะ 4 ประตู, รถ SUV ที่มีเบาะนั่งได้ไม่เกิน 7 คน มีการ

คำนวณภาษีรถยนต์ดังนี้

  1. เครื่องยนต์ขนาด 1-600 ซีซี คิดเป็น ซีซี ละ 50 สตางค์
  2. เครื่องยนต์ขนาด 601-1800 ซีซี คิดเป็น ซีซี ละ 1.50 บาท
  3. เครื่องยนต์ขนาด 1801 ซีซี ขึ้นไป คิดเป็น ซีซี ละ 4 บาท

ในกรณีเมื่อรถมีการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป จะมีการเสียภาษีรถยนต์ลดลงตามสัดส่วนดังนี้

  1. รถยนต์อายุเกิน 6 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 10%
  2. รถยนต์อายุเกิน 7 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 20%
  3. รถยนต์อายุเกิน 8 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 30%
  4. รถยนต์อายุเกิน 9 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 40%
  5. รถยนต์อายุเกิน 10 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 50%

ตัวอย่างการคำนวณภาษีรถกระบะ 4 ประตู ขนาดเครื่องยนต์ 2,755 ซี.ซี.

  1. 600 ซี.ซี. แรก – ซี.ซี. ละ 0.50 บาท วิธีคิด 600 x 0.5 = 300 บาท
  2. 601 – 1,800 ซี.ซี. – ซี.ซี. ละ 1.50 บาท วิธีคิด (1,800 – 600) = 1200 x 1.50 = 1,800 บาท
  3. 1,801-2,755 ซี.ซี. – ซี.ซี. ละ วิธีคิด (2,755-1,800) = 955 x 4 = 3,820

นำตัวผลลัพธ์ของแต่ละช่วง ซี.ซี. มาบวกกัน เท่ากับ 300+1,800+3,820 = 5,920 บาท

2.รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือเขียว (ป้ายเขียว)

เช่น รถบรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถดังนี้

  1. น้ำหนักรถ 501- 750 กิโลกรัม อัตราภาษี 450 บาท
  2. น้ำหนักรถ 751 – 1000 กิโลกรัม อัตราภาษี 600 บาท
  3. น้ำหนักรถ 1001 – 1250 กิโลกรัม อัตราภาษี 750 บาท
  4. น้ำหนักรถ 1251 – 1500 กิโลกรัม อัตราภาษี 900 บาท
  5. น้ำหนักรถ 1501 – 1750 กิโลกรัม อัตราภาษี 1,050 บาท
  6. น้ำหนักรถ 1751 – 2000 กิโลกรัม อัตราภาษี 1,350 บาท
  7. น้ำหนักรถ 2001 – 2500 กิโลกรัม อัตราภาษี 1,650 บาท

3.รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือน้ำเงิน (ป้ายน้ำเงิน)

รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ แต่จะมีการคิดอัตราภาษีแตกต่างจาก รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือเขียว ดังนี้

  1. น้ำหนักรถไม่เกิน 1800 กิโลกรัม อัตราภาษี 1,300 บาท
  2. น้ำหนักรถเกิน 1800 กิโลกรัม อัตราภาษี 1,600 บาท

ป้ายวงกลมหาย ต้องทำอย่างไร?

หากป้ายวงกลม หรือป้ายภาษีของรถคุณหาย สามารถยื่นเรื่องขอป้ายวงกลมใหม่ได้ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.เอกสารที่ต้องใช้

1.1หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถหรือเล่มทะเบียนรถ ตัวจริงพร้อมสำเนา

1.2บัตรประชาชนเจ้าของรถ ตัวจริงพร้อมสำเนา

1.3หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาเป็นตัวแทน (กรณีที่เจ้าของไม่มาด้วยตัวเอง)

1.4สำเนาใบแจ้งความ หรือสำเนาบันทึกประจำวัน โดยจะได้หลังจากที่เราไปแจ้งความว่าป้ายภาษีหายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

1.5กรณีที่ป้ายวงกลมชำรุด ให้นำป้ายวงกลมที่ชำรุดไปสำนักงานขนส่งทางบก ไม่ต้องไปแจ้งความ

2.ยื่นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบก

ยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานขนส่งทางบกตามจังหวัดนั้น ๆ ส่วนป้ายของกรุงเทพมหานครให้ไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งจตุจักร ระยะเวลาไม่เกิน 15 วันนับจากป้ายภาษีหาย

3.กรณีรถติดไฟแนนซ์ ถ้าป้ายวงกลมหายต้องทำอย่างไร?

หากป้ายวงกลมหาย ให้ติดต่อกับบริษัทไฟแนนซ์ได้เลย เพื่อให้บริษัทไฟแนนซ์ไปทำเรื่องขอป้ายวงกลมได้

ป้ายวงกลม กับ พ.ร.บ. ไม่เหมือนกัน

เชื่อว่าหลายคนมักเกิดความสับสนและเข้าใจผิด หรือเรียกผิดเรียกถูกระหว่างป้ายภาษีและพ.ร.บ. เพราะทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

พ.ร.บ. คือประกันภัยภาคบังคับ ที่รถทุกคันต้องมี หากไม่ต่อพ.ร.บ.ก็จะไม่สามารถต่อภาษีได้ เป็นเอกสาร A4 ที่ออกโดยบริษัทประกันภัย

ป้ายวงกลม หรือ ป้ายภาษี คือเอกสารที่ติดบนกระจกรถ แสดงให้เห็นว่ารถคันนี้ได้เสียภาษีเรียบร้อยแล้ว หากขาดต่อภาษีอาจจะทำให้ทะเบียนรถถูกระงับ ในกรณีขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี ต้องจดทะเบียนเล่มใหม่และเสียค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือน

ป้ายวงกลม หรือป้ายภาษี เป็นป้ายที่รถทุกคันต้องติดไว้ที่กระจกหน้ารถเพื่อแสดงว่าได้ชำระภาษีรถประจำปีแล้ว ในสมัยก่อนป้ายภาษีมีลักษณะเป็นวงกลม หลายคนจึงเรียกว่าป้ายวงกลม แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนป้ายจากวงกลมมาเป็นสี่เหลี่ยม ก็ยังคงมีการเรียกว่าป้ายวงกลมเช่นเดิม หากใครที่ทำป้ายวงกลมหายก็สามารถยื่นเรื่องขอทำป้ายวงกลมใหม่ได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ส่วนรถที่ติดไฟแนนซ์อยู่ให้ติดต่อบริษัทไฟแนนซ์เพื่อทำเรื่องขอป้ายวงกลมได้ ทั้งนี้การต่อภาษี ทำพ.ร.บ.เป็นสิ่งที่รถทุกคันต้องทำไว้ นอกจากนี้การทำประกันรถยนต์ติดรถไว้ ยังช่วยให้เพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถ เลือกประกันรถยนต์ที่เหมาะกับรถของคุณ แถมยังซื้อง่าย ผ่อนสบาย ไม่มีบัตรเครดิตก็ผ่อนได้ สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่