เนื้อหาของบทความ

หลายคนคงเคยต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ พร้อมกับการตรวจสภาพรถ และต่อภาษีประจำปีที่ตรอ.หรือขนส่ง แต่เรามีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้การต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ 2566 ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าเดิม เพียงมีสมาร์ทโฟนก็สามารถทำได้แล้ว โดยการต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ 2566 ที่เราจะแนะนำในวันนี้คือการต่อพ.ร.บ.ผ่านไลน์ @iRVP กันค่ะ

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ความคุ้มครองที่ไม่ต้องรอว่าใครถูกผิด

คิดว่าทุกบ้านน่าจะมีรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ อย่างน้อยบ้านละ 1 คัน บางคนใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลักในการเดินทาง บางคนใช้รถจักรยานยนต์สำหรับไปตลาด ไปซื้อของใกล้บ้าน แต่ไม่ว่าคุณจะใช้รถจักรยานยนต์บ่อยแค่ไหน แต่การทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถือเป็นหลักประกันในเบื้องต้นให้กับผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณี หรือบุคคลอื่นที่ประสบอุบัติเหตุ จะได้รับความคุ้มครองเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยต่าง ๆ และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือการต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จะต้องทำก่อนที่มีการเสียภาษีรถประจำปี เพราะหากไม่ต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถจักรยานยนต์ได้นั่นเอง โดยรายละเอียดความคุ้มครองของพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์นั้น จะไม่แตกต่างจากพ.ร.บ.รถยนต์ แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของเบี้ยประกันที่จะเสียที่น้อยกว่ารถยนต์นั่นเอง โดยความคุ้มครองของพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์นั้นมีดังนี้

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริงคนละไม่เกิน 80,000 บาท

2.ค่าสินไหมทดแทน กรณี สูญเสียอวัยวะ*/ทุพพลภาพอย่างถาวรหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สูงสุดคนละ 500,000 บาท

3.ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต สูงสุดคนละ 500,000 บาท

4.เงินชดเชยกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

หมายเหตุ *กรณีสูญเสียอวัยวะ เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัท พ.ร.บ.ได้รับคำร้องขอ โดยไม่รอการพิสูจน์ความรับผิด ดังนี้

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริง คนละไม่เกิน 30,000 บาท

2.ค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร   คนละไม่เกิน 35,000 บาท

3.ค่าปลงศพ ไม่เกิน 35,000 บาท

4.หากเกิดความเสียหาย หลายกรณีรวมกัน จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันแล้วไม่เกินคนละ 65,000 บาท

หมายเหตุ : กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกัน จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

การต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ยังไงให้ง่ายและไวสุด

เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเลือกให้บริการต่อพ.ร.บ. ตรวจสภาพรถ และต่อภาษีที่ตรอ.ซึ่งสามารถทำได้ทุกอย่างครบจบในที่เดียว แต่เรามีอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ล่วงหน้าได้โดยที่ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน นั่นก็คือการต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ผ่านเว็บไซต์หรือไลน์ของบริษัท กลางคุ้มครองเพื่อผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์เท่านั้น โดยมีอัตราเบี้ยประกันตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้

อัตราเบี้ยประกัน พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ กี่บาท

1.รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 161.57 บาท

เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี.  323.14 บาท

เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี.430.14 บาท

เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป 645.21 บาท

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 323.14 บาท

2.รถจักรยานยนต์รับจ้าง / ให้เช่า / สาธารณะ

ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 161.57 บาท

เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี.  376.64 บาท

เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. 376.64 บาท       

เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป 645.21 บาท   

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ให้เช่า/รับจ้าง 376.64 บาท

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ 376.64 บาท

แต่หากมีการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ระยะยาว 3 ปี 4 ปี หรือ 5 ปี จะได้รับส่วนลดกรมธรรม์ แต่ละช่วงเวลาของกรมธรรม์ไม่เท่ากัน ดังนี้ กรมธรรม์ที่คุ้มครอง 3 ปี จะได้ส่วนลด  50 บาท กรมธรรม์ที่คุ้มครอง 4 ปี จะได้ส่วนลด 75  บาท กรมธรรม์ที่คุ้มครอง 5 ปี จะได้ส่วนลด 100 บาท โดยมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ระยะยาวดังนี้

รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 3 ปี 4 ปี 5 ปี
ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 430.14 บาท 564.96 บาท 698.71 บาท
เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. 913.78 บาท 1,209.10 บาท 1,504.56 บาท
เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. 1,235.85 บาท 1,639.24 บาท 1,639.24 บาท
เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป 1,879.99 บาท 2,498.45 บาท 3,115.84 บาท
รถจักรยานยนต์รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ
เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. 1,074.28 บาท 1,424.17 บาท 1,772.99 บาท
หมายเหตุ: การรับประกันภัยในช่วงระยะเวลาที่เกิน 3 ปี แต่ไม่ถึง 4 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ให้ใช้อัตราเบี้ยประกันภัยแบบเฉลี่ยรายวัน

 

ขั้นตอนการต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ผ่านเว็บไซต์/Line: @iRVP

ในขั้นตอนการต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ผ่านบริษัท กลางคุ้มครองเพื่อผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สามารถเลือกทำได้ 2 ช่องทางได้แก่ เข้าผ่านเว็บไซต์ https://irvp.rvp.co.th/ หรือเพิ่มLine: @iRVP เมื่อเลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่งแล้ว ให้ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ค่ะ

การซื้อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ผ่าน Line

  1. เพิ่มเพื่อน โดยการแอดไลน์ @iRVP
  2. คลิกไปที่เมนู “ซื้อพ.ร.บ.”  กดที่ภาพ ซื้อพ.ร.บ.ที่แสดงบนหน้าจอ
  3. กดเลือกขนาดเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์   หน้าจอมือถือจะแสดงรายละเอียดความคุ้มครอง เลื่อนหน้าจอลงด้านล่าง กด “ซื้อ พ.ร.บ.”
  4. ลงทะเบียน รายละเอียดผู้ซื้อ รายละเอียดรถจักรยานยนต์ กด ถัดไป จนถึงหน้ายืนยันข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว กด ยืนยันข้อมูล
  5. เลือก วิธีชำระเงิน และชำระเงิน
  6. ตรวจสอบความคุ้มครอง กดที่เมนู “พ.ร.บ.ของฉัน” หากการลงทะเบียนนั้นมีเลขบัตรประชาชนตรงกับที่เคยทำ พ.ร.บ. กับบริษัทกลางฯ ไว้ ระบบจะแสดงข้อมูลกรมธรรม์ที่เป็นปัจจุบัน โดยอัติโนมัติ
  7. เอกสารกรมธรรม์ จะถูกส่งไปทางเมลที่ลูกค้าลงทะเบียนไว้

การซื้อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ผ่าน Website

1.เลือกเมนู ซื้อ พ.ร.บ. Online

2.ลงทะเบียนใช้งานเว็บไซต์

3.ลงทะเบียนยืนยันตัวตน

4.บันทึกข้อมูลรถจัดทำกรมธรรม์

5.ชำระเงินค่าเบี้ยประกัน

6.รับกรมธรรม์ผ่านอีเมล์ และจะมีข้อความ SMS แจ้งได้รับความคุ้มครองจากบริษัทกลางฯ

จะเห็นว่าทั้ง 2 ช่องทางนี้คุณก็สามารถรับกรมธรรม์ทางอีเมลได้เลย  สะดวก ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางอกไปไหนเลยค่ะ

การเบิกพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ 2566 มีขั้นตอนยังไงบ้าง

หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ของคุณไม่ขาด ก็สามารถเบิกพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ได้ ไม่ว่าจะบาดเจ็บ เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ก็ยังได้รับเงินชดเชยจากการทำพ.ร.บ.นี้อีกด้วย โดยวิธีการเบิกพ.ร.บ.มีขั้นตอนดังนี้

เบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
  2. ใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล หรือใบสรุปหน้างบ หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในจากโรงพยาบาล

กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
  2. ใบรับรองแพทย์หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายเพราะประสบภัยจากรถ และหลักฐานรับรองแสดงถึงการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร เช่น หนังสือรับรองความพิการ
  3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

กรณีเสียชีวิต

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
  2. ใบมรณบัตร
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาทและบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
  4. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน และ/หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายเพราะประสบภัยจากรถ

การจ่ายค่าเสียหายของบริษัทประกันภัย จะจ่ายให้กับผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้นแต่หากมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นมากระทำการแทนก็สามารถทำได้ โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย แต่หากผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเช็คให้กับทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเท่านั้น

หากเกิดอุบัติเหตุจากรถ ต้องทำอย่างไร?

1.จดทะเบียนรถหรือถ่ายภาพรถคันที่เกิดอุบัติเหตุ

2.รีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

3.แจ้งบริษัทกลาง ฯ 1791 หรือบริษัทประกันภัยของรถคันที่เกิดเหตุ หรือแจ้งตำรวจ

4.ให้แสดงบัตรประชาชนและแจ้งข้อมูลทะเบียนรถคันที่ก่อเหตุ ที่ทำให้ได้รับความเสียหายนั้นแก่โรงพยาบาล

5.สิทธิของผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.หากรถคันที่เกิดเหตุมีประกัน ผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล

6.โทรติดต่อสอบถามข้อมูลความคุ้มครองของพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์เพิ่มเติมได้ที่ 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง

รวมคำถาม-ตอบเกี่ยวกับพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์

เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีข้อสงสัยและคำถามเกี่ยวกับการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ทั้งเรื่องการเบิกพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ความคุ้มครองที่จะได้รับ  หรือผลกระทบจากการขาดต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์  โดยเราได้รวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์มาฝากค่ะ

1.ไม่ใช่เจ้าของรถเบิกพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ได้ไหม?

คำตอบคือ ไม่ใช่เจ้าของรถเบิกพ.ร.บ.ได้ เพราะ พ.ร.บ.คือหลักประกันให้กับผู้ขับขี่ว่าจะได้รับสิทธิคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนขับ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอก หรือคนเดินเท้า ก็สามารถเบิกพ.ร.บในส่วนของค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยต่าง ๆ ได้ 

2.ไม่ต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ได้หรือไม่

หากไม่ต่อพ.ร.บ.มีโทษตามกฎหมาย เพราะกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำและหากพ.ร.บ.หมดอายุก็จะไม่สามารถต่อภาษีประจำปีได้ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจระหว่างที่ใช้รถ โดยโทษปรับจากการขาดต่อพ.ร.บ.รถไม่เกิน 10,000บาท

3.ขาดต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์หลายปี ต่อใหม่ได้หรือไม่?

รถจักรยานยนต์บางคัน ที่อาจจะไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ นาน ๆ ใช้ที หรือ จอดทิ้งไว้ไม่ได้นำมาใช้เลย อาจจะละเลยในการต่อพ.ร.บ.รถยนต์หรือพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ทั้งนี้เมื่อนำรถคันนั้นกลับมาใช้ใหม่ หรือจะต้องขายรถออก จะต้องกลับมาต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์และต่อภาษีรถให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่หากขาดการต่อพ.ร.บ.รถมานาน จะยังสามารถต่ออายุพ.ร.บ.รถใหม่ได้อีกหรือไม่ เรามีคำแนะนำมาฝากค่ะ

  • ขาดต่อพ.ร.บ.รถยนต์/รถจักรยานยนต์ 1 ปีขึ้นไป ดำเนินการต่อพ.ร.บ.รถได้เลย แต่จะมีค่าปรับในส่วนของภาษีรถ
  • ขาดต่อพ.ร.บ.รถยนต์/รถจักรยานยนต์ 2 ปีขึ้นไป นำรถไปตรวจเช็คสภาพรถยนต์ที่ขนส่ง เพื่อดำเนินการต่อภาษีและจ่ายค่าปรับ โดยเอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่  สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถ สมุดทะเบียนรถ และทะเบียนบ้านเจ้าของรถ  
  • ขาดต่อพ.ร.บ.รถยนต์/รถจักรยานยนต์ 3 ปีขึ้นไป ต้องมีการจดทะเบียนรถใหม่ เพราะมีโอกาสที่รถถูกระงับป้ายทะเบียน โดยจะมีการเสียค่าปรับ จ่ายภาษีย้อนหลัง สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถ สมุดทะเบียนรถและทะเบียนบ้านเจ้าของรถ  

4.การทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ออนไลน์จะได้เอกสารกรมธรรม์อย่างไร?

การทำประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ออนไลน์ผ่านช่องทางไลน์ @iRVP หรือช่องทาง www.rvp.co.th จะได้กรมธรรม์ทางอีเมลเท่านั้น  จะไม่มีการส่งเอกสารทางไปรษณีย์แต่อย่างใด

รวมวิธีขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ปลอดภัย

แม้ว่าเราจะมีการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์แล้วก็ตาม แต่การขี่รถจักรยานยนต์ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย เพราะขึ้นชื่อว่าเนื้อหุ้มเหล็กแล้ว ย่อมจะได้รับบาดเจ็บง่ายกว่าการขับรถยนต์แน่นอน ทั้งนี้เราจึงแนะนำวิธีการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างไรให้ปลอดภัยมาฝากค่ะ

1.เรียนรู้และฝึกฝนทักษะในการขับขี่อย่างปลอดภัยและต้องมีสติไม่ประมาททุกครั้งที่ต้องขับขี่

2.ตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนการเดินทาง ตรวจสอบระบบเบรก ระบบไฟส่องสว่าง สภาพยาง ระบบไฟ และอุปกรณ์อื่น ๆ ควรอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

3.ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ขับขี่รถเร็ว ไม่ขับรถย้อนศร อย่าขี่รถขึ้นทางเท้าหรือฟุตบาท ไม่แทรกรถไปในช่องทางแคบ หรือช่องว่างระหว่างรถยนต์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย

4.เมาไม่ขับ หากผู้ขับขี่สภาพร่างกายไม่พร้อม ไม่ควรขับขี่เด็ดขาด

5.ไม่ควรขับแซง เปลี่ยนเลนรถกะทันหัน หรือตัดหน้ากระชั้นชิด ควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้าทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนเลนหรือเลี้ยว เมื่อเห็นว่าปลอดภัยค่อยเปลี่ยนทิศทางของรถ

6.หลีกเลี่ยงการขับขี่เข้าใกล้รถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่จุดบอดในทุกกรณี ได้แก่ บริเวณด้านขวา และด้านหน้า เพราะความสูงใหญ่ของตัวรถทำให้มองไม่เห็นรถเล็กด้านหน้า ด้านหลังของรถบรรทุก เนื่องจากกระจกมองหลังจะไม่สามารถเห็นด้านหลังของรถได้ และด้านซ้ายของรถบรรทุก ที่มีทัศนวิสัยแคบย่อมมีโอกาสเสี่ยงอันตรายได้

7.สวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องสวมใส่หมวกกันน็อกที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก มอก. และใส่สายรัดคางให้แน่นกระชับพอดี นอกจากนี้ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้าที่รัดกุม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังถลอก หรือเป็นแผลรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

8.ห้ามดัดแปลงสภาพรถ ล้อและยาง กระจกมองข้าง ท่อไอเสีย ควรเป็นไปตามมาตรฐานจากโรงงานผู้ผลิต เพราะอุปกรณ์ส่วนควบของรถทุกชิ้นที่ติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิตผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งาน และช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยนั่นเองค่ะ

ปฐมพยาบาลแผลรถล้ม ต้องทำอย่างไร

เบื้องต้นหากคุณขี่รถจักรยานยนต์แล้วประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะรถล้มเอง หรือมีคู่กรณี เบื้องต้นหากเกิดบาดแผลจากรถล้ม สามารถปฐมพยาบาลแผลรถล้มเบื้องต้นได้ดังนี้

1.ห้ามเลือดก่อน

ก่อนจะทำแผลรถล้ม จะต้องทำให้เลือดหยุดไหลเสียก่อน โดยการใช้มือกดบริเวณที่แผลออก ช่วยให้หลอดเลือดหดตัว แต่หากบาดแผลนั้นลึกและใหญ่ ให้นำผ้าสะอาดซับ และใช้มือกดเพื่อห้ามเลือด

2.ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ

ในการล้างแผลรถล้ม หลายคนอาจเคยใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำประปาในการล้างแผล เป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกต้องมานัก เพราะ หากล้างด้วยน้ำประปา ซึ่งมีส่วนผสมของสารละลายไฮโปโทนิก อาจจะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดและเซลล์เนื้อเยื่อสร้างใหม่ได้ ส่วนแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่กลับไปทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายช้า จึงแนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์สำหรับเช็ดทำความสะอาดรอบบาดแผล โดยไม่สัมผัสกับบาดแผลโดยตรง เพราะฉะนั้นการล้างแผลรถล้มที่ถูกวิธี จึงจำเป็นต้องล้างบาดแผลด้วยน้ำเกลือ สำหรับล้างแผลโดยเฉพาะ  จะไม่ทำให้แสบที่แผลรถล้มแล้ว ยังรักษาสมดุลกับระดับน้ำในเซลล์ร่างกายนั่นเอง

3.ใส่ยา โพวิโดน-ไอโอดีน  

หลังจากที่ล้างแผลแล้วให้ใช้ โพวิโดน-ไอโอดีน ซึ่งเป็นยารักษาแผลสด ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยนำไปชุบสำลีทาบาดแผลและเช็ดบริเวณรอบบาดแผล จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซเพื่อกันการสัมผัสเชื้อโรค แต่ถ้าหากบาดแผลรถล้มไม่ลึกนัก อาจจะไม่จำเป็นต้องปิดแผล เพื่อให้แผลรถล้มภายเร็วขึ้น 

4.พบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น

หากพบว่าบาดแผลรถล้มยังไม่ดีขึ้น เลือดไม่หยุดไหล  ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไป

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ มีความสำคัญมากต่อผู้ขับขี่ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นมา ก็คุ้มครองผู้ประสบภัยโดยไม่คำนึงว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ก็ยังให้ความคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาลทุกกรณี รวมไปถึงเงินชดเชยที่จะได้รับหากทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต หากเราเป็นฝ่ายถูกยังได้รับเงินสินไหมทดแทนเพิ่มเติม ทั้งนี้การขับขี่ปลอดภัยไม่ประมาท เคารพกฎหมายจราจร เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว ไม่ต้องเสียเวลานอนโรงพยาบาลอีกด้วย เพราะฉะนั้นเจ้าของรถอย่าปล่อยให้พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ขาด เพราะหากพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ขาดไปแล้ว ก็จะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิจากพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ได้ เพราะพ.ร.บ.ขาดเท่ากับไม่ได้รับความคุ้มครองนั่นเอง เพื่อป้องกันการหลงลืมต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ คุณสามารถต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน  หรือ 90 วันก่อนหมดพ.ร.บ.หมดอายุนั่นเองค่ะ