พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ หรือ พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่มีความคุ้นเคยอยู่ไม่น้อย เพราะทุกปีก่อนจะต่อภาษีจะต้องมีการต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้รถทุกคันต้องทำพ.ร.บ.เนื่องจากกฎหมายบังคับเพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอง เรามาดูกันว่าพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ คืออะไร

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ หรือ พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ หรือประกันภัยภาคบังคับ คือการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายที่บังคับให้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และยานพาหนะทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำทุกคัน เพื่อเป็นหลักประกันในเบื้องต้นให้กับผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ได้แก่ ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณี และบุคคลอื่นที่ประสบอุบัติเหตุ หรือกล่าวได้ว่าพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จะคุ้มครองคนแต่ไม่คุ้มครองรถหรือทรัพย์สิน เช่น รถจักรยานยนต์ รถเก๋ง หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่เสียหายจากอุบัติเหตุ เพราะเราจะไม่สามารถเดาได้เลยว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เรียกได้ว่าเนื้อหุ้มเหล็ก โอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุทางรถ เช่น รถเฉี่ยวชน รถล้ม ย่อมมีสูงกว่าผู้ที่ขับรถยนต์ จึงทำให้การทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จึงเป็นหลักประกันในเรื่องของความคุ้มครองคน การรักษาพยาบาลต่าง ๆ รวมไปถึงเงินชดเชยหากมีการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอีกด้วย

จะเห็นว่าการทำพ.ร.บ. หรือประกันภัยภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการทำพ.ร.บ.รถยนต์ หรือ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อผู้ขับขี่เป็นอย่างมาก อย่างน้อยในส่วนของค่ารักษาพยาบาลของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลที่ประสบภัยจากอุบัติเหตุครั้งนี้ จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการรักษาพยาบาลและเงินชดเชยต่าง ๆ นั่นเอง แต่หากคุณไม่ต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ แล้วถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจจะมีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทและหากต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์เรียบร้อยแล้วแต่ไม่แสดงเครื่องหมายหรือติดป้ายสี่เหลี่ยมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้เรามาดูกันต่อว่าการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยอย่างไรบ้าง

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ คุ้มครองผู้ประสบภัยเรื่องไหนบ้าง

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ เป็นการบังคับตามกฎหมายว่าผู้ขับขี่จะต้องมีการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ทุกคนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ คือประกันภัยภาคบังคับ ที่รถทุกคันต้องมี หากไม่ต่อพ.ร.บ.ก็จะไม่สามารถต่อภาษีได้ เป็นเอกสาร A4 ที่ออกโดยบริษัทประกันภัย ในกรณีที่ภาษีขาดแต่พ.ร.บ.ไม่ขาด หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พ.ร.บ.ก็จะยังให้ความคุ้มครองอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการทำพ.ร.บ.จึงเป็นสิ่งสำคัญและอย่าปล่อยให้พ.ร.บ.ขาดเด็ดขาด เพราะพ.ร.บ.จะให้ความคุ้มครองโดยจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทนดังนี้

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริงคนละไม่เกิน 80,000 บาท

2.ค่าสินไหมทดแทน กรณี สูญเสียอวัยวะ*/ทุพพลภาพอย่างถาวรหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สูงสุดคนละ 500,000 บาท  

3.ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต สูงสุดคนละ 500,000 บาท

4.เงินชดเชยกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

หมายเหตุ *กรณีสูญเสียอวัยวะ เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์

พ.ร.บ.จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัท พ.ร.บ.ได้รับคำร้องขอ โดยไม่รอการพิสูจน์ความรับผิด ดังนี้

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริง คนละไม่เกิน 30,000 บาท

2.ค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร   คนละไม่เกิน 35,000 บาท

3.ค่าปลงศพ ไม่เกิน 35,000 บาท

4.หากเกิดความเสียหาย หลายกรณีรวมกัน จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันแล้วไม่เกินคนละ 65,000 บาท

หมายเหตุ :กรณี ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกัน  จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

 จะเห็นว่าความคุ้มครองของพ.ร.บ.นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ขับขี่ไม่น้อย อย่างน้อยในส่วนของค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ก็ยังได้รับเงินชดเชยจากการทำพ.ร.บ.นี้อีกด้วย โดยวิธีการเบิกพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์มีขั้นตอนดังนี้

การเบิกพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์

1.เตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มีชื่อในหลักฐานว่าเป็นผู้ประสบภัย

2.ใบเสร็จเงินค่ารักษาพยาบาล

เบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน

1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย

2.ใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล หรือใบสรุปหน้างบ หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในจากโรงพยาบาล

กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย

ใบรับรองแพทย์หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายเพราะประสบภัยจากรถ และหลักฐานรับรองแสดงถึงการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร เช่น หนังสือรับรองความพิการ

สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

กรณีเสียชีวิต

1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย

2.ใบมรณบัตร

3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาทและบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

4.สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน และ/หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายเพราะประสบภัยจากรถ

การจ่ายค่าเสียหายของบริษัทประกันภัย จะจ่ายให้กับผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้นแต่หากมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นมากระทำการแทนก็สามารถทำได้ โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย แต่หากผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเช็คให้กับทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเท่านั้น

อัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์

ในส่วนของอัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จะแบ่งตามประเภทของรถ โดยแต่ขนาดซี.ซี.ของรถก็จะมีอัตราของเบี้ยที่แตกต่างกัน ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก็แยกเป็นอีกราคาหนึ่ง ตามที่กฎหมายกำหนดมีราคาดังต่อไปนี้       

1.รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล         

ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 161.57 บาท

เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี.  323.14 บาท

เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี.430.14 บาท

เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป 645.21 บาท

รถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 323.14 บาท    

2.รถจักรยานยนต์รับจ้าง / ให้เช่า / สาธารณะ  

ไม่เกิน 75 ซี.ซี.   –

เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี.  376.64 บาท

เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี.           

เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป     

แต่หากมีการทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ระยะยาว 3 ปี 4 ปี หรือ 5 ปี จะได้รับส่วนลดกรมธรรม์ แต่ละช่วงเวลาของกรมธรรม์ไม่เท่ากัน ดังนี้ กรมธรรม์ที่คุ้มครอง 3 ปี จะได้ส่วนลด  50  กรมธรรม์ที่คุ้มครอง 4 ปี จะได้ส่วนลด 75  บาท กรมธรรม์ที่คุ้มครอง 5 ปี จะได้ส่วนลด 100 บาท โดยมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ระยะยาวดังนี้ 

รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 3 ปี 4 ปี 5 ปี
ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 430.14 บาท 564.96 บาท 698.71 บาท
เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. 913.78 บาท 1,209.10 บาท 1,504.56 บาท
เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. 1,235.85 บาท  1,639.24 บาท 1,639.24 บาท
เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป 1,879.99 บาท 2,498.45 บาท 3,115.84 บาท
รถจักรยานยนต์รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ
เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. 1,074.28 บาท 1,424.17 บาท 1,772.99 บาท

 

 ทำประกันพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ได้ที่ไหนบ้าง

ในการพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ สามารถทำประกันภัยบังคับได้ที่ บริษัทกลางฯทุกสาขาทั่วประเทศ/ ที่ตัวแทนประกันภัย/ ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 และ ที่ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ สามารถทำพ.ร.บ.ออนไลน์ได้ที่ Line @iRVP  โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มเพื่อน โดยการแอดไลน์ @iRVP
  2. คลิกไปที่เมนู “ ซื้อพ.ร.บ.”  กดที่ภาพ ซื้อพ.ร.บ.ที่แสดงบนหน้าจอ
  3. กดเลือกขนาดเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์   หน้าจอมือถือจะแสดงรายละเอียดความคุ้มครอง เลื่อนหน้าจอลงด้านล่าง กด “ซื้อ พ.ร.บ.”
  4. ลงทะเบียน รายละเอียดผู้ซื้อ รายละเอียดรถจักรยานยนต์ กด ถัดไป จนถึงหน้ายืนยันข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว กด ยืนยันข้อมูล
  5. เลือก วิธีชำระเงิน และชำระเงิน
  6. ตรวจสอบความคุ้มครอง กดที่เมนู  “พ.ร.บ.ของฉัน”  หากการลงทะเบียนนั้นมีเลขบัตรประชาชนตรงกับที่เคยทำ พ.ร.บ. กับบริษัทกลางฯ ไว้  ระบบจะแสดงข้อมูลกรมธรรม์ที่เป็นปัจจุบัน โดยอัติโนมัติ
  7. เอกสารกรมธรรม์ จะถูกส่งไปทางเมลที่ลูกค้าลงทะเบียนไว้

 สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนผ่านไลน์ @iRVP สามารถตรวจสอบระยะเวลาความคุ้มครองของ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ได้ที่เมนู พ.ร.บ.ของฉัน หรือ หากผู้เอาประกันภัยยังไม่เคยลงทะเบียนผ่านไลน์ ให้ทำการ เพิ่มเพื่อน โดยค้นหาไอดีไลน์ @iRVP เพื่อลงทะเบียน เมื่อยืนยันตัวตน จะสามารถตรวจสอบความคุ้มครองได้ที่เมนู พ.ร.บ. ของฉัน หรือสามารถปริ้นเอกสารกรมธรรม์เพื่อนำไปต่อภาษีประจำปี หรือเก็บเป็นหลักฐานได้โดยจะส่งเป็นเอกสารกรมธรรม์ทางอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้แต่จะไม่มีการส่งเอกสารกรมธรรม์ทางไปรษณีย์

การทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงการทำพ.ร.บ.รถยนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญ และยังเป็นหลักประกันเบื้องต้นสำหรับผู้ขับขี่  เพราะหากเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด พ.ร.บ.ก็ยังให้ความคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาลทุกกรณี รวมไปถึงเงินชดเชยกรณีทุพพลภาพถาวร สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต และหากพิสูจน์แล้วคุณเป็นฝ่ายถูกก็ยังได้รับเงินสินไหมเพิ่มเติม แต่หากคุณเป็นฝ่ายผิดก็ยังได้รับความคุ้มครองเบื้องต้นอยู่เช่นเดียวกันค่ะ การทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักแต่เมื่อแรกกับความคุ้มครองที่จะได้รับหากประสบอุบัติเหตุทางรถแล้วถือว่ามีความคุ้มค่าไม่น้อย อย่าปล่อยให้พ.ร.บ.ขาดเพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา นอกจากจะไม่มีประกันภัยภาคบังคับคุ้มครองแล้ว ยังอาจจะต้องทำให้คุณต้องเสียค่ารักษาพยาบาลแพง ๆ และไม่ได้รับเงินชดเชยอะไรเลยก็ได้ค่ะ