ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ หากร่างกายของคุณสัมผัสกับอากาศร้อนเป็นเวลานานๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอันตรายยอดฮิต นั่นก็คือ “โรคลมแดด” หรือที่เรียกว่า “โรคฮีทสโตรก” (Heat Stroke) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน สาเหตุมาจากอากาศที่ร้อนมากเกินไป ส่งผลให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นกว่า 40°c โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง  เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาล่าช้า ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้

 

สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่า “คุณกำลังเป็นโรคฮีทสโตรก”

  • ตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดงและแห้ง
  • หน้าซีด ปวดศีรษะ หน้ามืด มึนงง เริ่มพูดไม่ชัด เพ้อ
  • หายใจถี่ ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เดินเซ
  • เป็นตะคริว หรือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการชัก หรือเป็นลมจนหมดสติไป

 

วิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ควรทำอย่างไรบ้าง ?

  • หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้ดื่มน้ำเย็นที่สะอาด ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • ใช้น้ำพรมตามร่างกาย ใช้พัดหรือพัดลม เพื่อระบายความร้อน
  • ใช้ถุงน้ำแข็งประคบตามรักแร้ ขาหนีบ ลำคอ และข้อพับต่างๆ ตามร่างกาย
  • ให้ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที

 

 

 วิธีป้องกันร่างกายให้ห่างจากอันตรายของ “โรคฮีทสโตรก”

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ไม่ควรรอจนกระหายน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีแดดจัดเป็นเวลานานๆ และไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายหนักๆ
  • ควรเลือกสวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่เบาสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่รัดแน่นหรือหนาจนทำให้รู้สึกร้อน
  • ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 20+ ขึ้นไป
  • รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น สลัดและผลไม้ที่มีน้ำมากๆ ยกเว้น ทุเรียน เงาะ ลำไย
  • ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

 

                           โรคฮีทสโตรก ภัยร้ายในหน้าร้อนที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศค่อนข้างร้อน โรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทางที่ดีที่สุดก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดและดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง อย่าลืมหมั่นสังเกตอาการของตนเองด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใย จากเฮงลิสซิ่ง ค่ะ