บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

บริหารการเงิน

ทริปนี้ไม่มีล่ม!! วางแผนเก็บเงินเที่ยวล่วงหน้าอย่างไรให้สำเร็จ

ไม่นานก็มาถึงช่วงกลางปีแล้ว 6 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าบางคนก็คงจะได้ออกทริปเที่ยวทะเลบ้าง ต่างประเทศบ้างกันพอสมควร แต่ในขณะที่อีกหลายคนแทบจะไม่เคยได้ใช้วันลาพักร้อนไปเที่ยวที่ไหนเลย แม้ในใจจะอยากไปมากแค่ไหน แต่ด้วยรายจ่ายที่มากมาย และหวั่นใจว่าหลังจากท่องเที่ยวเงินจะไม่พอใช้ จึงทำให้ทริปท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไป ดังนั้นอย่าปล่อยให้เรื่องเงินมาเป็นอุปสรรคขัดขวางโอกาสในการท่องเที่ยวของคุณ วันนี้เราจึงมาแชร์วิธีวางแผนเก็บเงินเที่ยวล่วงหน้าให้สำเร็จ!! พอถึงช่วงวันหยุดยาวก็จะได้ออกไปพักผ่อน พักสมอง และเที่ยวกันให้เต็มที่ไปเลย

 

1.ตั้งงบประมาณเที่ยว

เริ่มจากการตั้งคำถามว่า อยากไปเที่ยวที่ไหน? และต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่? ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลคร่าวๆ ได้จากอินเทอร์เน็ตหรือบล็อกเกอร์รีวิวสถานที่ต่างๆ และคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้จ่าย โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถโดยสาร ช้อปปิ้ง ของฝาก ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ และอย่าลืมเช็คอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินหากคุณไปเที่ยวต่างประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น ตัวผู้เขียนเองอยากจะไปทริปไต้หวันสัก 5 วัน โดยที่ตั๋วเครื่องบินไม่ต้องแพงมาก แต่ขอที่พักดูดีหน่อย และมีเงินสำหรับไปชิมชานมไข่มุกหลายๆร้าน ก็ตั้งงบไว้ 25,000 บาท เป็นต้น

 

2.วางแผนการท่องเที่ยวและมองหาโปรโมชั่น

วางแผนการเที่ยวให้ละเอียดแต่ยังคงยืดหยุ่นได้ เพื่อที่จะได้เริ่มมองหาโปรโมชั่น เช่น โปรโมชั่นตั๋วเครื่องบิน ที่พัก หรือบัตรเข้าชมการแสดง เพราะการจองล่วงหน้ามีโอกาสได้ราคาที่ถูกกว่าและหากได้โปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินมักจะช่วยให้เราประหยัดเงินไปมากขึ้น ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากการเลือกซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนที่จะจองอย่างอื่น หรือเลือกจองอย่างอื่นไปก่อนในกรณีที่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงวันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การวางแผนท่องเที่ยวจะช่วยให้เราสามารถมองหาโปรโมชั่นดีๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

 

3.วางแผนเก็บเงินให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

เมื่อทราบแล้วว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่? ก็ถึงเวลาวางแผนแล้วว่าจะหาเงินนั้นมาจากไหน? ตรงนี้นี่เองที่หลายคนมักจะติดขัด จนทริปที่วางแผนไว้จะต้องหยุดชะงักไป ซึ่งเราก็ได้รวบรวมวิธีที่จะช่วยให้คุณเก็บเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับรองว่า ทริปนี้ไม่มีล่มแน่นอน

 

  • หักดิบด้วยเงินก้อนใหญ่

วิธีนี้เหมาะกับคนที่ค่อนข้างใจแข็งมากๆ เพราะจะเป็นการเก็บเงินก้อนใหญ่ให้ครบทีเดียวเลย จากตัวอย่างข้างบน เราต้องการจะเก็บเงินไปเที่ยว 25,000 บาท พอเดือนนี้เงินเดือนออกปุ๊บ ก็ถอนออกไปเก็บไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงทันที 25,000 บาท แล้วค่อยมาจัดการชีวิตกับเงินที่เหลือ (วิธีน่าจะเหมาะกับคนที่มีรายรับเยอะๆหน่อยนะ)

  • เก็บวันละหน่อย เติมกระปุกวันละนิด

ถ้าคุณคิดว่าวิธีแรกมันดุเดือดเกินไปอาจจะใช้วิธีแบ่งเก็บทีละนิดหยอดใส่กระปุกออมสิน ทำให้เราหายใจหายคอได้คล่องมากขึ้น เช่น เราจะไปเที่ยวใช้เงิน 25,000 บาท เหลือเวลาเก็บเงินอีก 6 เดือนหรือ 180 วัน เราก็หารเฉลี่ยออกมาเลยจ้าว่าจะต้องเก็บครั้งละเท่าไหร่

  • ถ้าเราจะเก็บรายเดือน ก็จะเก็บเงินเดือนละ 4,166 บาท (25,000 / 6)
  • ถ้าเราจะเก็บรายสัปดาห์ สะสมเงินประมาณสัปดาห์ละ 1,041 บาท (25,000 / 24)
  • ถ้าเราจะเก็บทุกวัน ก็จะเก็บเงินวันละ 138 บาท (25,000 / 180)
  •  กวาดเศษเหรียญลงกระปุกออมสิน

เรามักจะมีเศษเหรียญเล็กๆ น้อยๆ ติดกระเป๋ามาด้วยทุกครั้งหลังกลับมาจากทำงาน ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้สนใจเศษเงินตรงนั้น ก็ปล่อยทิ้งไป แต่ถ้าคุณกำลังจะเก็บเงินไปเที่ยวก็โปรดจงสนใจเศษเหรียญเหล่านั้นด้วย เพราะมันอาจจะทำให้คุณมีเงินสำหรับจ่ายค่าอาหารมื้ออร่อยๆ ในทริปครั้งนี้เพิ่มขึ้นอีก 3 – 4 มื้อก็ได้นะ ถ้าใครยังไม่เชื่อ ก็ลองทำกันตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ เมื่อกลับไปถึงบ้านก็เทเศษเหรียญลงกระปุกออมสินให้หมด ทำแบบนี้ทุกวันๆ แล้วค่อยมาเปิดก่อนจะเดินทางไปเที่ยวในทริปหยุดยาว คุณอาจจะต้องตกใจกับพลังของเศษเหรียญเหล่านั้นเลยก็ได้

  • เก็บเงินด้วยแบงค์ 50

เป็นอีกวิธีที่สามารถเริ่มทำได้ง่ายๆ เมื่อคุณได้รับ แบงค์ 50 มา แล้วหยอดกระปุกออมสิน

ยกตัวอย่าง เก็บเงินด้วยแบงค์ 50 บาท จะได้ทริปท่องเที่ยวที่ไหนบ้าง??

แบงค์ 50 >> 100 ใบ = 5,000 (ท่องเที่ยวในประเทศ)

แบงค์ 50 >> 300 ใบ = 15,000 (สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม)

แบงค์ 50 >> 500 ใบ = 25,000 (ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง)

แบงค์ 50 >> 750 ใบ = 37,500 (ญี่ปุ่น)

  •  หารายได้เสริมและลดรายจ่าย

วิธีที่จะทำให้เราเก็บเงินไปเที่ยวได้เร็วขึ้น คือ การหารายได้เพิ่มจากอาชีพเสริมอื่นๆ และการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะของกินจุกจิกต่างๆ ควรห่างกันสักพักแล้วค่อยมาเจอกันใหม่หลังจากทริปหยุดยาวก็ได้ รวมถึงลดการซื้อของที่ไม่จำเป็นต่างๆ ทั้งหมดนี้จะทำให้เรามีเงินไปเที่ยวเพิ่มขึ้นแบบทันตาเห็น ส่วนใครถนัดวิธีไหนก็เลือกแบบนั้นหรือทำทั้งสองวิธีควบคู่กันไปเลยก็จะดีมากๆ รับรองว่าจะเก็บเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน

 

4.จองก่อน จ่ายทีหลัง (หากเป็นไปได้)

 

ในปัจจุบันนี้การจองที่พักสามารถเลือกแบบจ่ายเงินทันที หรือจ่ายเงินใกล้ๆ วันจะเดินทาง หรือจ่ายในวันที่เข้าพักได้เลย แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำว่าจ่ายในวันที่เข้าพักดีกว่า เพราะเผื่อไว้หากมีการปรับเปลี่ยนแผน รวมทั้งยังรู้สึกอุ่นใจว่าในช่วงเดินทางเรามีที่พักแล้ว แต่หากเปรียบเทียบราคาดูแล้วว่าการจองกับโรงแรมโดยตรงซึ่งปกติจะต้องจ่ายเงินทันทีนั้นถูกกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็แนะนำว่าเลือกจ่ายเงินทันทีก็น่าจะคุ้มกว่านะ

 

5.เที่ยวให้เต็มที่

หลังจากวางแผนจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จะทำให้คุณทราบว่ามีเงินเหลืออีกกี่บาท หากคุณบริหารจัดการเงินก้อนใหญ่ๆ ได้ดีพอแล้ว อาจจะพบว่าตัวคุณเองมีเงินเหลือพอที่จะทำอย่างอื่นได้อีก เช่น คุณสามารถซื้อตั๋วได้ถูกกว่างบที่ตั้งไว้ เงินส่วนที่เหลือก็สามารถใช้ในการซื้อของโปรดที่คุณอยากได้ หรือนำไปสมทบทุนสำหรับการเดินทางครั้งหน้าได้อีกด้วย และเตรียมไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์เที่ยวให้เต็มที่ได้เลย

 

** อย่าลืม !! สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ระหว่างช่วงที่คุณไปท่องเที่ยวในแต่ละวัน หากไม่เหนื่อยจนเกินไป ควรสรุปค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในวันนั้นๆ เพื่อเป็นการตรวจสอบดูว่าคุณได้ใช้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และวันพรุ่งนี้ควรจะใช้น้อยลงหรือมีเงินเหลือที่จะซื้อของอื่นๆเพิ่มขึ้นได้

 

การเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศก็เป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิตที่ดีเลยทีเดียว เรื่องเงินไม่ควรจะเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยว การรู้จักวางแผนการเงินที่ดี รอบคอบและการแบ่งเงินไว้สำหรับท่องเที่ยวจะช่วยให้เราเที่ยวได้อย่างสบายใจมากขึ้น เราหวังว่าคุณจะสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองและไปเที่ยวในช่วงที่คุณยังมีพลังในการเดินทาง อย่ามัวแต่ทำงานหนักหรือรอให้แก่ตัวลงก่อนแล้วค่อยไปเที่ยว เพราะถึงวันนั้น คุณอาจจะเจ็บป่วยจนเดินทางไม่ไหวก็เป็นได้นะ

Thanawut Shiteja

Share
Published by
Thanawut Shiteja

Recent Posts

‘เฮงลิสซิ่ง’ สนับสนุนน้ำดื่ม กิจกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงวัณโรค รพ.สต.บ้านสันคะยอม เชียงใหม่

‘เฮงลิสซิ่ง’ สนับสนุนน้ำดื่ม กิจกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงวัณโรค รพ.สต.บ้านสันคะยอม เชียงใหม่ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพของคนใน ชุมชน มอบน้ำดื่มสำหรับบริการกลุ่มเสี่ยงที่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองวัณโรคโดยรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ โดย…

1 day ago

เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสาน “งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน ปี 2567” จ.กำแพงเพชร

บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ร่วมอนุรักษ์การสืบทอดศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงามของชาวบ้านนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งจุดบริการน้ำดื่ม “น้ำเฮง น้ำใจ” แก่ประชาชน

3 days ago

5 คีย์เวิร์ดหลักช่วยสร้าง ภูมิคุ้มกันทางการเงิน ที่ดี

การสร้างภูมิคุ้มกันการเงินที่ดี คือการศึกษาความรู้ทางการเงินตั้งแต่ยังเด็ก วันนี้เราจะชวนคุณมาสร้างภูมิคุ้มกันการเงินที่ดีในบทความนี้

4 days ago

10+1 เทคนิค วางแผนการเงิน ในชีวิตประจำวัน 

มัดรวมเทคนิค วางแผนการเงิน ในชีวิตประจำวัน จากวัยทำงานสู่วัยเกษียณ เพิ่มความั่นคงทางการเงิน ไม่เกิดปัญหาหนี้สินในอนาคต อ่านต่อในบทความนี้

5 days ago

รวมพื้นฐาน ความรู้ทางการเงิน ที่ทุกคนควรรู้ 

ความรู้ทางการเงิน Financial Literacy เป็นการทำความเข้าใจการเงินในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยให้คุณมีนิสัยทางการเงินที่ดีในอนาคต

5 days ago

5 ทักษะการเงินที่โรงเรียนไม่เคยสอน แต่เราต้องมีติดตัว 

ทักษะการเงิน ความรู้ทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญแต่กลับไม่มีการสอนในโรงเรียน แต่วันนี้เราจะมาแนะนำทักษะทางการเงินที่ควรมีติดตัว รู้ก่อนรวยก่อน

5 days ago