บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

ความรู้เกี่ยวกับรถ

ไขข้อสงสัย ป้ายห้ามจอด แต่ละป้ายอ่านอย่างไรให้ถูกต้อง

เนื้อหาของบทความ

หลายคนอาจจะเคยเกิดความสับสนในการอ่าน ป้ายห้ามจอด ที่ปักไว้ตามถนนหนทาง เพราะป้ายห้ามจอดแต่ละป้ายมีทั้งตัวเลขกำหนดเวลา รวมไปถึงข้อความตัวอักษร ซึ่งสร้างความงงงวยให้กับผู้ขับขี่ว่าตกลงแล้ว เราเข้าใจความหมายที่ป้ายห้ามจอดสื่อออกมาอย่างถูกต้องหรือเปล่า เรามีวิธีการอ่านป้ายห้ามจอดอย่างถูกต้องมาฝากค่ะ

ป้ายห้ามจอด ป้ายจราจรชนิดหนึ่ง

เครื่องหมายหรือป้ายจราจรต่าง ๆ ที่เราเห็นกันตามท้องถนน เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการช่วยจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนน ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นบนท้องถนน และยังช่วยให้การจราจรมีความคล่องตัวอีกด้วย ทั้งนี้เมื่อพูดถึงป้ายจราจรแล้ว สามารถแบ่งประเภทของป้ายจราจรออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.ป้ายบังคับ ป้ายประเภทบังคับให้ผู้ใช้รถต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย เช่น ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามแซง ป้ายห้ามเลี้ยว เป็นต้น

2.ป้ายเตือน ป้ายเตือนมีไว้สำหรับเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบล่วงหน้าว่าลักษณะการจราจรที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีอันตราย ให้ผู้ใช้ทางได้ระมัดระวังและลดความเร็วเพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

3.ป้ายแนะนำ ป้ายเพื่อแนะนำ ชื่อก็บอกตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นการแนะนำ ป้ายประเภทนี้จึงเป็นการแนะนำให้ผู้ใช้ทางในการเดินทางทราบถึงทิศทาง ข้อมูลต่าง ๆ ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ทั้งนี้ในบทความนี้เราจะขอพูดถึง ป้ายห้ามจอด น่าจะเคยสร้างความสับสนและเกิดการเข้าใจผิดให้กับผู้ขับขี่หลายต่อหลายท่านมาแล้ว เรามักจะเห็นป้ายห้ามจอดตามถนนหนทาง โดยเฉพาะในเขตชุมชนที่มีการสัญจรขวักไขว่ การมีป้ายห้ามจอดจะช่วยจัดระเบียบการจราจรและป้องกันไม่ให้ผู้ขับขี่จอดรถได้ตามอำเภอใจจนทำให้กีดขวางทางสัญจรต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้หลายคนมักเกิดความเข้าใจผิดในการอ่านห้ามจอด ที่สรุปแล้วตกลงว่าป้ายห้ามจอดนั้น ๆ ให้เราจอดได้หรือไม่ จอดได้กี่โมง หรืออื่น ๆ  เราจึงมีวิธีการอ่านป้ายห้ามจอดที่ถูกต้อง เพื่อผู้ขับขี่จะได้ตีความหมายได้อย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องนั่นเองดังนี้

ป้ายห้ามจอด ตลอดเวลา เว้นวันอาทิตย์

เราลองมาเริ่มอ่านป้ายห้ามจอดแบบแรกกันก่อนค่ะ ป้ายห้ามจอด “ตลอดเวลา เว้นวันอาทิตย์” ป้ายแรกอาจจะตีความหมายได้ไม่ยากมากนัก วิธีการอ่านป้ายห้ามจอด “ตลอดเวลา เว้นวันอาทิตย์” อ่านได้ดังนี้

1.ห้ามจอดตลอดแนว ทุกวัน

2.วันอาทิตย์ จอดได้ทั้งวัน

ป้ายห้ามจอด 05.00 -22.00 เว้นวันหยุดราชการ

จากป้ายห้ามจอดอันแรก มาที่ป้ายห้ามจอดอันที่ 2 ป้ายห้ามจอดแบบนี้มีการะบุเวลาที่ห้ามจอดไว้อย่างชัดเจน วิธีการอ่านป้ายห้ามจอด “05.00 -22.00 เว้นวันหยุดราชการ” อ่านได้ดังนี้

1.ห้ามจอดตลอดแนว เวลา 05.00-22.00 น. ของทุกวัน

2.วันหยุดราชการ จอดได้ทั้งวัน

ป้ายห้ามจอด วันคี่ 06.00-20.00 น. (6 AM – 8 PM)

จากป้ายห้ามจอดของทุกวัน ตอนนี้ลองมาอ่านป้ายห้ามจอดที่ระบุเป็นวันคี่ วันคี่ คือ วันที่เป็นเลขที่ทั้งหลาย เช่น 1,3,5,7,9,…..(วันที่ลงท้ายด้วยเลขคี่) วิธีการอ่านป้ายห้ามจอด “ป้ายห้ามจอดวันคี่ 06.00-20.00 น. (6 AM – 8 PM)” มีวิธีการอ่านได้ดังนี้

1.ห้ามจอดตลอดแนว เวลา 06.00-20.00 น. ของทุกวัน

2.ห้ามจอดตลอดแนว ทุกวันคี่ ทุกช่วงเวลา

จะเห็นว่าป้ายห้ามจอดแบบนี้ จะมีการระบุความหมายถึงสองความหมายนั่นก็คือ นอกจากจะห้ามจอดทุกวันแล้ว ยังห้ามจอดทุกวันคี่ ทุกช่วงเวลานั่นเอง อย่าเพิ่งสับสนกันนะ เดี๋ยวมาลองอ่านป้ายห้ามจอดแบบต่อไปกันค่ะ

วันคี่ตลอดเวลา วันคู่ 06.00-09.00 และ 16.00-22.00 น.

ป้ายห้ามจอดนี้ดูแล้วมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไหนจะต้องมีการระบุทั้งวันคี่ตลอดเวลา วันคู่ที่มีการระบุเวลาไว้06.00-09.00 และ 16.00-22.00 น.อย่างชัดเจน แล้วเราจะต้องอ่านป้ายห้ามจอดนี้ว่าอย่างไร

1.ห้ามจอดตลอดแนว ทุกวันคี่

2.วันคู่ ห้ามจอดเวลา 6.00-9.00 และ 16.00-22.00 น.

ป้ายห้ามจอด วันคู่ตลอดเวลา เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ 05.00-20.00 6 ล้อขึ้นไปตลอดเวลา

เพิ่มความยากและยาวมากขึ้นกว่าเดิม อ่านไปอาจจะงงไป ตกลงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร ลองอ่านกันเล่น ๆ ดูนะคะว่าตกลงแล้วป้ายนี้เขาห้ามจอดรถแบบไนบ้าง จากนั้นลองมาดูกันคะว่าอ่านถูกหรือไม่

1.ห้ามจอดตลอดแนว ทุกวันคู่

2.วันเสาร์-อาทิตย์ ห้ามจอดเวลา 05.00-20.00 น. ไม่ว่าจะเป็นวันคู่หรือวันคี่ก็ตาม

3.รถ 6 ล้อขึ้นไป ห้ามจอดตลอดแนวทุกวัน

ป้ายห้ามจอด วันคู่ ฝั่งตรงข้ามวันคี่ 06.00-18.00

ป้ายห้ามจอดแบบนี้ มีการระบุฝั่งถนนทั้ง 2 ฝั่ง มีวิธีการอ่านได้ดังนี้

1.ฝั่งนี้ วันคู่ ห้ามจอดเวลา 6.00-16.00 น.

2.ฝั่งตรงข้าม วันคี่ ห้ามจอดเวลา 6.00-16.00 น.

ป้ายห้ามจอดรถหน้าบ้าน

หากจากป้ายห้ามจอดรถที่เราเห็นตามท้องถนนแล้ว ยังมีป้ายห้ามจอดอีกประเภทที่เราอาจจะคุ้นตานั่นก็คือ ป้ายห้ามจอดรถหน้าบ้าน ซึ่งการจอดรถขวางหน้าบ้านเรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกที่เจ้าของบ้านจะต้องคอยแก้ไขปัญหาอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้ป้ายห้ามจอดรถหน้าบ้าน คือทางออกของการแก้ไขปัญหาการจอดรถขวางหน้าบ้านที่เป็นมิตรมากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น หรือขวางทางเข้าออก มีความผิดฐานก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้เสียหาย โดยเจ้าของบ้านที่ถูกคุณจอดรถขวางหน้าบ้านสามารถแจ้งความเอาผิดข้อกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสอง ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้การจอดรถขวางหน้ายังมีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 ฐานที่จอดรถหรือหยุดรถเพื่อกีดขวางเส้นทางสัญจร ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท โดยการหยุดรถที่เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 มีดังต่อไปนี้

1.ห้ามหยุดรถในช่องเดินรถ (เว้นแต่ว่าจะจอดรถชิดทางซ้ายสุดของเลน และไม่มีช่องเดินรถประจำทาง)

2.หยุดรถบนทางเท้า หรือฟุตบาทคนเดินถนน

3.หยุดรถบนสะพานหรือในอุโมงค์

4.หยุดรถในทางร่วมทางแยก

5.หยุดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรหรือป้ายห้ามหยุดรถ

6.หยุดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ

7.หยุดรถในเขตปลอดภัย

8.หยุดรถหรือจอดรถในลักษณะที่กีดขวางทางจราจร

หากเจ้าของบ้าน จอดรถหน้าบ้านตัวเอง มีความผิดทางกฎหมายหรือไม่

คุณจะเห็นว่าการจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่หากเจ้าของบ้านจอดรถหน้าบ้านตัวเองจะมีความผิดหรือไม่นั้น คำตอบคือ การจอดรถที่ถูกต้องและเหมาะสมต้องจอดในพื้นที่ของตนเองที่มีรั้วรอบขอบชิดเท่านั้น ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถในทางสาธารณะหรือพื้นที่เอกชน เช่น ถนนภายในหมู่บ้าน เพราะจะถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 ประกอบมาตรา 148 ที่ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ ซึ่งการจอดรถบนทางสาธารณะแม้จะเป็นหน้าบ้านของตนเอง แต่ก็สามารถสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่นได้ เนื่องจากรถคันอื่นไม่สามารถสัญจรไปมาหรือถอยรถเข้า-ออกได้อย่างสะดวกนั่นเอง

ป้ายจราจรที่หลายคนมักเข้าใจผิด

หลายต่อหลายครั้งที่ ป้ายห้ามจอด มักสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีป้ายจราจรอื่น ๆ ที่ยังคงสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และผู้สัญจรไปมา โดยเราได้ยกตัวอย่างป้ายจราจรที่หลายคนมักเข้าใจผิด มาทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องกันค่ะ

1.ป้ายห้ามเข้า

บางครั้งมักเกิดความเข้าใจผิดระหว่างป้ายห้ามจอดซึ่งเราได้อธิบายไปแล้วข้างต้น และป้ายห้ามเข้า สำหรับป้ายห้ามเข้าคือป้ายที่มีสัญลักษณ์วงกลม มีพื้นหลังสีแดง และมีขีดสีขาวแนวนอนอยู่ตรงกลางขีดเดียว ใช้สำหรับป้ายที่ห้ามผู้ขับขี่ขับขี่เข้าไปในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายนี้

2.ป้ายทางคดเคี้ยว

ป้ายบอกทางคดเคี้ยว มักสร้างความสับสนกับป้ายบอกถนนลื่น เพราะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือมีรูปถนนคดเคี้ยวไปมา คล้ายกัน แต่ความจริงแล้วป้ายบอกทางคดเคี้ยว จะเป็นรูปลูกศรคดเคี้ยวส่วนป้ายบอกถนนลื่นจะมีรูปรถและทางคดเคี้ยว

3.ป้ายทางเบี่ยง

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าป้ายนี้หมายถึงป้ายบอกสะพาน หรือมีสะพานอยู่ด้านหน้า แต่ความจริงแล้วคือป้ายทางเบี่ยงนั่นเองซึ่งมีทั้งเบี่ยงซ้ายและเบี่ยงขวานั่นเอง

4.ป้ายให้รถสวนทางมาก่อน

ป้ายจราจรนี้เป็นอีกหนึ่งป้ายจราจรที่มือใหม่หัดขับอาจเข้าใจผิดว่าฝั่งตัวเองที่เป็นลูกศรสีแดงจะได้ไปก่อน แต่ทั้งนี้ความหมายของป้ายจราจรนี้ คือ ลูกศรฝั่งเราเป็นสีแดง ก็คือเราต้องหยุด ส่วนลูกศรอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นของรถสวนมาที่เป็นสีดำ แสดงว่าอีกฝั่งไปได้

5.ป้ายเตือนรถกระโดด

ป้ายเตือนที่มีลักษณะคล้ายภูเขา แต่ความจริงแล้วเป็นการเตือนว่าทางข้างหน้าผิวขรุขระ มีหลุมมีบ่อ ต้องลดความเร็วและขับรถให้ช้าลงเพื่อความปลอดภัยนั่นเอง

กฎหมายจราจร 10 ข้อที่ผู้ขับขี่ควรรู้

นอกจากป้ายจราจร ป้ายห้ามจอดรถ หรือป้ายเตือนต่าง ๆ ที่ผู้ใช้รถอาจเกิดความเข้าใจผิดแล้ว ยังมีในส่วนของกฎหมายจราจรที่หลายคนอาจจะปฏิบัติมาแบบผิด ๆ จนไม่รู้เลยว่าแบบไหนคือสิ่งที่ถูกต้อง หรือแบบไหนเป็นสิ่งที่ผิด โดยเราได้ยกตัวอย่างกฎหมายจราจร 10 ข้อ ที่ผู้ขับขี่จำเป็นต้องรู้เพื่อการขับรถอย่างปลอดภัยมาฝากกันค่ะ

1.พกใบอนุญาตขับรถและเอกสารสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ

ผู้ขับขี่จะต้องพกใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่ หากผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถ มีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือสามารถแสดงใบขับขี่รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์แทนใบขับขี่ตัวจริง ให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อถูกขอเรียกดูได้ รวมไปถึงเอกสารสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถติดรถไว้ หากไม่มีจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

2.เมาไม่ขับ

กฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินระดับถือว่าเมามีโทษปรับตามกฎหมาย โดยผู้ที่เมาแล้วขับจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.รัดเข็มขัดทุกคน

รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง รถแท็กซี่ รถตู้ รถกระบะ ยกเว้นรถสองแถว รถกระบะมีแคปและรถสามล้อเครื่อง จะต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและต้องคาดเข็มขัดทุกคน หากฝ่าฝืน รถเก๋ง รถแท็กซี่ รถกระบะ ปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนรถบรรทุกสินค้า รถตู้ รถทัวร์ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

4.ห้ามนั่งกระบะหลัง

เนื่องจากกระบะหลังไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย กฎหมายจึงมีการบังคับไม่ให้นั่งกระบะท้าย หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

5.ห้ามใส่หลังคา Sunroof/Moonroof

รถที่มีการติดตั้งมาจากโรงงานแล้วไม่มีปัญหา แต่ถ้านำมาติดตั้งเองภายหลังถือเป็นการดัดแปลง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

6.ไฟเบรกสีแดงเท่านั้น

รถทุกคันจะต้องมีไฟหยุดหรือที่เรียกกันว่าไฟเบรก โดยจะต้องมีสีแดงเท่านั้น ห้ามใช้สีอื่น หรือดัดแปลงเป็นไฟกระพริบ เพราะอาจจะสร้างความเข้าใจผิดกับผู้ขับขี่คนอื่นได้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

7.ห้ามล้อยางเกินนอกบังโคลน

ล้อรถด้านท้ายยื่นออกมาได้ไม่เกิน 15 ช.ม. ส่วนขอบยางด้านนอกสุดห้ามยื่นออกมาเกินตัวถังรถ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

8.ห้ามท่อไอเสียดัง

รถที่นำมาใช้ขับขี่บนท้องถนนจะต้องมีความดังไม่เกิน 95 เดซิเบล เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและรบกวนผู้อื่น หากถูกปรับจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

9.ห้ามไฟหน้าหลายสี

ไฟหน้าจะต้องเป็นสีขาวหรือสีเหลือง กำลังไฟไม่เกิน 10 วัตต์ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

10.ไฟตัดหมอกใช้เมื่อจำเป็น

หากฝนตกหนัก หมอกลงจัด ขับผ่านกลุ่มควัน สามารถใช้ไฟตัดหมอกได้ หากใช้นอกเหนือเหตุจำเป็นดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

การขับขี่ตามกฎหมายจราจร      

กฎหมายจราจรมีความสำคัญกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน รวมไปถึงคนเดินเท้าก็ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน กฎหมายจราจรเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายหลัก ในการบังคับควบคุมการจราจรให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยกฎหมายจราจรที่ประเทศไทยใช้เป็นหลักก็คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ. จราจร ซึ่งการขับขี่ตามกฎหมายจราจรมีข้อควรรู้ดังนี้

การขับรถสวนทางกัน

1.ให้ขับรถชิดซ้ายโดยถือกึ่งกลางของทางเดินรถเป็นหลักแต่ถ้าได้จัดแบ่งช่องเดินรถไว้ให้ถือเส้นหรือแนวที่แบ่งนั้นเป็นหลัก

2.ในทางเดินรถที่แคบ เมื่อขับรถสวนทางกัน ให้ผู้ขับขี่แต่ละฝ่ายลดความเร็วของรถ เพื่อให้รถสวนทางกันได้โดยปลอดภัย

3.สำหรับทางเดินรถที่แคบซึ่งไม่อาจขับรถสวนกันได้ ผู้ขับรถคันใหญ่กว่าต้องหยุดรถชิดขอบทางเดินรถด้านซ้าย เพื่อให้ผู้ขับรถคันเล็กว่าผ่านไปก่อน

4.เมื่อมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า ให้ลดความเร็วของรถหรือหยุดรถ เพื่อให้รถคันที่สวนมาผ่านไปได้

การขับรถผ่านทางร่วมทางแยก

1.ถ้ามีรถอื่นอยู่ในระหว่างทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน

2.ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน และไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน

3.ถ้าสัญญาณไฟเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านไปได้ ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถที่หลังเส้นให้รถหยุดจนสามารถเคลื่อนรถผ่านไปได้

การขับรถผ่านวงเวียน

1.ในกรณีมีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้น

2.ถ้าไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร ต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ซึ่งขับอยู่ในวงเวียนทางด้านขวาของตนขับผ่านไปก่อน

3.ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรเพื่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร จะให้สัญญาณเป็นอย่างอื่น ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

เทคนิคและมารยาทในการขับรถยนต์

ในฐานะที่ต่างคนต่างใช้ถนนหนทางร่วมกัน อย่างน้อยการทำตามกฎหมายจราจรและมีมารยาทให้การขับขี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มความปลอดภัยและมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมทางอีกด้วย มารยาทเบื้องต้นที่ผู้ขับขี่ควรมีขณะใช้รถใช้ถนนมีดังนี้

มารยาทในการขับรถยนต์ให้ปลอดภัย

1.หยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลาย

เราจะพบว่ามีข่าวรถชนคนข้ามถนน โดยเฉพาะข้ามบนทางม้าลายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถ หากพบว่ามีคนอยู่บนทางเท้าและกำลังจะเดินข้ามทางม้าลาย ผู้ขับควรชะลอ แตะเบรก และให้สัญญาณไฟขอทาง เพื่อให้คนข้ามทางม้าลายให้เรียบร้อยก่อนจึงจะขับรถออกไปได้ ซึ่งที่ต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

2.ไม่ขับรถแช่ขวา

เลนทางขวาเป็นเลนสำหรับรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูง แม้ว่าคุณขับรถตามความเร็วที่กฎหมายจราจรกำหนด แต่หากคุณวิ่งรถด้วยความเร็วคงที่ ก็ไม่ควรจะขับรถแช่ชวา เพราะจะทำให้การจราจรติดขัด รถคันหลังไม่สามารถไปก่อนได้ คุณจะสังเกตได้ว่าหากคุณขับรถแช่ขวาแล้วมีรถคันหลังขับจี้ท้ายคุณ คุณจะต้องเปิดไฟเลี้ยวซ้าย และหลบให้คันหลังที่มาด้วยความเร็วกว่าไปก่อน

3.รักษาระยะห่างจากคันหน้า

หากคุณขับรถมาด้วยความเร็วปกติ ควรจะเว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ประมาณ 100 เมตร ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. และ 80 เมตร ที่ความเร็ว 80 กม./ชม.เพื่อให้คุณมีระยะเบรกรถได้ทัน เป็นการป้องกันหากรถคันข้างหน้าของคุณเบรกกระทันหันไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม

4.ระวังการใช้ไฟสูง

ไม่ควรเปิดไฟสูงขณะที่ขับรถสวนกับคันอื่น เพื่อจะได้ไม่เป็นการรบกวนสายตาผู้ขับรถคนอื่น

5.ให้สัญญาณไฟก่อนแซง

หากต้องการแซงรถ ควรให้สัญญาณไฟ ใช้ความเร็วที่จะแซงอย่างเหมาะสม และเว้นระยะการแซงรถเพื่อที่จะกลับเข้าเลนปกติ ไม่อยู่ในระยะประชิดจนเป็นการปาดหน้ารถ นอกจากนี้ไม่ควรแซงขวาเข้าไปในเลนรถสวนทาง

6.ไม่ขับรถตัดหน้าคันอื่น

หากจะต้องทำการเปลี่ยนเลนรถ  ควรจะต้องมองกระจกหลัง ให้สัญญาณไฟ รอให้รถคันอื่นไปแล้ว จึงจะสามารถเลี้ยวรถ หรือเปลี่ยนรถได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นการขับรถตัดหน้าคันอื่น จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้

กฎหมายจราจรใหม่ที่ควรรู้

กฎหมายจราจร มีความสำคัญกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน เพื่อสามารถนำปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจราจร ที่กำหนดไว้ เพราะกฎหมาย เป็นสิ่งที่สร้างออกมาเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ควบคุมการกระทำไม่ให้สร้างความเสียหายกับผู้อื่น แต่หากเมื่อไหร่ที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือละเลยกฎจราจร การจ่ายค่าปรับจราจรหรือได้รับโทษตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยค่าปรับจราจรจะมีตั้งแต่การเสียค่าปรับจราจรไปจนถึงจำคุกเลยทีเดียว ทั้งนี้เราจะมาลงรายละเอียดในส่วนของอัตราค่าปรับจราจรและบทลงโทษเพิ่มเติมในแต่ละข้อกันค่ะ

ค่าปรับจราจรปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

การเพิ่มค่าปรับจราจรสำหรับปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

โดยอาจก่อให้เกิดการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทางได้แก่

1.การขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยมีการกำหนดอัตราความเร็วดังต่อไปนี้

ข้อกำหนดในการใช้ความเร็วบนทางหลวงแผ่นดิน

ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ดังนี้

1.1 รถยนต์ วิ่งไม่เกิน 120 กม./ชม.

1.2รถเลนขวาสุด วิ่งไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ส่วนรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กก.หรือรถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน วิ่งได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.

1.3 รถจักรยานยนต์ วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.

1.4 รถจักรยานยนต์ 400 cc (บิ๊กไบค์)ขึ้นไปวิ่งไม่เกิน 110 กม./ชม.

1.5 รถโรงเรียน วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.

1.6 รถโดยสาร 7-15 คนวิ่งไม่เกิน 100 กม./ชม.

1.7 รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม วิ่งไม่เกิน 45 กม./ชม.

1.8 รถลากจูง รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ วิ่งไม่เกิน 65 กม./ชม.

2.ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

3.ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

4.ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท

5.ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท

6.ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ส่วนรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอน (รถกระบะ 4 ประตู) ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย

ค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น

การเพิ่มค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น ได้แก่ การเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท

1.หากมีการทำผิดครั้งแรก โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.หากมีการทำผิดซ้ำภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทำความผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับ 50,000 – 100,000 บาท

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีท

ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 ทั้งนี้ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการประชุมหารือ กับนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกรมการขนส่งทางบกจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธ.ค. 2565

ค่าปรับจราจรหากมีการแข่งหรือจัดแข่งรถในทางสาธารณะ

1.การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณะสถานใกล้ทางด้วยรถตั้งแต่5 คันขึ้นไป ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง”โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิเช่นนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือรถดัดแปลงปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่า จะทำการแข่งรถในทาง โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือค่าปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.หากเป็นผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ หรือชักชวนแข่งรถ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ร้านที่รับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทความนี้นอกจากจะให้ความรู้ในเรื่องของการอ่าน ป้ายห้ามจอด ให้ถูกต้องแล้ว เพื่อผู้ขับขี่จะได้ไม่เกิดความสับสนว่าตกลงแล้วบริเวณนั้น ๆ สามารถจอดรถได้หรือไม่ มีข้อบังคับว่าอย่างไรแล้ว ยังให้ความรู้ในส่วนของกฎหมายจราจร 10 ข้อรวมไปถึงอัปเดตค่าปรับจราจรใหม่ 2565 เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยต่อตัวเองและเพื่อนร่วมทางนั่นเอง ทั้งนี้การในการขับรถเดินทางไปที่ไหนก็ตาม จะต้องได้รับความคุ้มครองและเพิ่มความอุ่นใจในทุกการเดินทาง แนะนำทำประกันรถยนต์เพื่อช่วยเสริมความคุ้มครองทั้งคน รถและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ที่เฮงลิสซิ่งนอกจากจะให้บริการทางด้านสินเชื่อแล้ว ยังให้บริการประกันภัยรถยนต์ ผ่อน 0% นาน 12 เดือน ซื้อง่าย ไม่ต้องจ่ายเงินก้อน รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก  

vara

Recent Posts