มีใครเคยได้ใบสั่งค่าปรับจราจรกันบ้าง ส่วนใหญ่คนที่เคยได้ใบสั่งมักจะมาจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่หลังจากที่ได้ใบสั่งมาแล้ว บางคนเลือกที่จะไม่จ่ายค่าปรับ เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไรหรือไม่ทราบว่าจะต้องไปจ่ายที่ไหนถึงจะจ่ายได้สะดวก วันนี้เราจึงมีคำแนะนำในการจ่ายค่าปรับจราจรอย่างถูกต้องมาฝากค่ะ

ใบสั่งออนไลน์ ไม่จ่ายค่าปรับ ได้ไหม

ใบสั่งจราจร เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่หลายคนไม่อยากได้เท่าไหร่นัก แม้ว่าจะเผลอกระทำผิดจากกฎหมายจราจรที่กำหนดไว้ก็ตาม เพราะบางครั้งอาจเกิดความเข้าใจผิด การเผลอไผล   หรือความประมาทของผู้ขับขี่เอง ทั้งนี้หากคุณได้ใบสั่งจราจรขึ้นมา ถึงเวลาที่คุณต้องเสียเงินจ่ายค่าปรับนั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ขับขี่มักได้ใบสั่งจราจร จากการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรดังต่อไปนี้ เช่น โดนใบสั่งความเร็ว ใบสั่งฝ่าไฟแดง กล้องตรวจจับความเร็ว หรือใบสั่งค่าปรับจราจรจากตำรวจ แต่หลายคนเลือกที่ไม่จ่ายค่าปรับใบสั่ง เนื่องจากคิดว่าหากไม่จ่ายค่าปรับก็ไม่น่าจะเป็นอะไรมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่าทางกองบังคับการตำรวจจราจรได้ออกกฎหมายใหม่ หากผู้ขับขี่ที่ได้รับใบสั่งแต่เก็บสะสมไว้ไม่ยอมไม่จ่ายค่าปรับ และไม่จ่ายค่าปรับตามกำหนด อาจมีหมายจับส่งไปถึงบ้านได้  นอกจากอาจจะได้หมายจับส่งมาถึงหน้าบ้านแล้ว อาจมีผลกระทบต่อการเสียภาษีรถยนต์อีกด้วย  จึงทำให้สรุปได้ว่าหากได้รับใบสั่งจราจรไม่ว่าจะในรูปแบบของ การเขียนใบสั่งเล่ม ใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์ ใบสั่งออนไลน์ หรือใบสั่งจากเครื่อง E-TICKET แต่ไม่จ่ายค่าปรับ อาจจะโดนทั้งหมายจับส่งไปที่บ้านและอาจะมีผลต่อการเสียภาษีรถยนต์ ซึ่งการเสียภาษีรถยนต์เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้ขับขี่ทุกท่านเลยก็ว่าได้ เพราะทุกปีผู้ใช้รถจะต้องมีการต่อพ.ร.บ. ต่อภาษีรถประจำปี ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์  

 

ขั้นตอนในการออกหมายจับสำหรับผู้ที่ไม่จ่ายค่าปรับตามกำหนด

เนื่องจากมีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมากที่มักจะได้ใบสั่งจราจร แต่มักจะเก็บสะสมไว้ เนื่องจากคิดว่าหากไม่จ่ายก็คงไม่มีผลอะไรบ้าง หรือยังไม่ทราบว่าจะต้องไปจ่ายที่ไหน จ่ายอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรแล้วไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก หรือสะสมใบสั่งไว้ไม่ยอมไปจ่ายเสียที ทางกองบังคับการตำรวจจราจรได้ออกกฎหมายใหม่ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การออกหมายจับออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

1.การออกใบเตือน

หากผู้ขับขี่ได้รับใบสั่งแล้ว แต่ไม่ไปชำระค่าปรับจราจรตามระยะเวลาที่กำหนดในใบสั่งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกใบเตือน  โดยทำการจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปถึงที่บ้านภายใน 15 วัน   

2.การออกหมายเรียก

เมื่อพ้นกำหนดชำระค่าปรับจราจรภายใน 15 วันแล้วแต่ยังไม่จ่ายค่าปรับอีก ตำรวจจะส่ง ส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีฯ และพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกไปยังผู้ขับขี่เพื่อให้มาชำระค่าปรับต่อไป

3.การออกหมายจับ

หลังจากที่ผู้ขับขี่ไม่มาตามหมายเรียกถึง 2 ครั้ง จะมีการยื่นคำร้องอนุมัติศาลออกหมายจับ กรณีไม่จ่ายค่าปรับจราจร จะมีความผิดมาตรา 155 ผู้ใดไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ ปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท ในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ฯ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียกเท่านั้น ซึ่งการถูกออกหมายจับจะมีผลต่อการใช้ชีวิตได้แก่ ชื่อของผู้ถูกออกหมายจับจะเข้าสู่ระบบทะเบียนกลาง ไม่ว่าจะเป็นสารระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมไปถึงกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้มีผลต่อการทำนิติกรรมต่าง ๆ การเดินทางออกนอกประเทศ รวมไปถึงการสมัครงานใหม่อีกด้วย

นอกจากนี้หากใครทำใบสั่งหายก็สามารถตรวจสอบออนไลน์ได้ ผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งวิธีตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ มีดังนี้

วิธีตรวจสอบใบสั่งออนไลน์

1.ลงทะเบียนผู้ใช้งานเว็บไซต์ใบสั่งจราจรออนไลน์ คลิก โดยเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบขับขี่ให้พร้อม

2.ดำเนินการเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านที่ตั้งไว้

3.ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา”

4.คลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองคนเดียวกัน)

5.ดำเนินการชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือชำระที่สถานีตำรวจ,​ ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทยหรือตู้บุญเติม

นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร 1197

หากได้รับใบสั่งจราจรแล้ว ต้องทำอย่างไร

การเคารพกฎหมายจราจรเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ทุกคนรวมไปถึงผู้ที่เดินทางเท้าต้องเคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะหากต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ทำอะไรตามอำเภอใจ โดยไม่เคารพตามกฎหมายจราจร อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนทั้งตัวคุณเองและเพื่อนร่วมทางอีกด้วย  อย่างไรก็ตามหากคุณมีการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าไฟแดง ขับรถเกินความเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือจอดรถในที่ห้ามจอด และได้รับใบสั่งจราจรมาแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป เรามีคำตอบมาฝากกันต่อเลยค่ะ

1.โดนใบสั่ง  แต่มีการจ่ายค่าปรับแล้วเรียบร้อย

หากโดนใบสั่งจราจรแล้ว แต่มีการจ่ายค่าปรับจราจรเรียบร้อยแล้ว สามารถต่อทะเบียนรถยนต์ได้ตามปกติไม่มีปัญหา

2.โดนใบสั่ง  แต่ไม่จ่ายค่าปรับ.

หากโดนใบสั่งจราจรแล้ว แต่ยังไม่ไปจ่ายค่าปรับจราจร จะสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ แต่จะได้รับป้ายภาษีชั่วคราว หรือป้ายวงกลมชั่วคราว ที่มีอายุ 30 วัน ซึ่งเมื่อจ่ายค่าปรับจราจรแล้ว จึงจะได้รับป้ายภาษี หรือป้ายวงกลมของจริงได้

แต่ถ้าปล่อยให้พ้น 30 วันไปแล้วยังไม่มีการจ่ายค่าปรับจราจร จะมีความผิดโดยใช้รถยนต์ที่ไม่มีเครื่องหมายการเสียภาษีมีโทษปรับ 2,000 บาท

อัปเดต ค่าปรับจราจรใหม่ เพิ่มโทษข้อไหนบ้าง

กฎหมายจราจร มีความสำคัญกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน เพื่อสามารถนำปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจราจรที่กำหนดไว้ เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่สร้างออกมาเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ควบคุมการกระทำไม่ให้สร้างความเสียหายกับผู้อื่น แต่หากเมื่อไหร่ที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือละเลยกฎหมายจราจร การจ่ายค่าปรับจราจรหรือได้รับโทษตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยค่าปรับจราจรจะมีตั้งแต่การเสียค่าปรับจราจรไปจนถึงจำคุกเลยทีเดียว และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการปรับปรุงกฎหมายจราจรใหม่ 2565 และมีการเพิ่มในส่วนของอัตราค่าปรับจราจรใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน ได้แก่ ความเร็วในการใช้รถ การฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ทางม้าลาย การสวมหมวกนิรภัย การเพิ่มโทษปรับที่ผู้ขับขี่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น เมาแล้วขับ การรัดเข็มขัดนิรภัย รวมไปถึงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี หรือคาร์ซีท ทั้งนี้เราจะมาลงรายละเอียดในส่วนของอัตราค่าปรับจราจรและบทบลงโทษเพิ่มเติมในแต่ละข้อกันค่ะ

1.การขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยมีการกำหนดอัตราความเร็วดังต่อไปนี้

ข้อกำหนดในการใช้ความเร็วบนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ดังนี้

 

1.1 รถยนต์ วิ่งไม่เกิน 120 กม./ชม.

1.2 รถเลนขวาสุด วิ่งไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ส่วนรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กก. หรือรถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน วิ่งได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.

1.3 รถจักรยานยนต์ วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.

1.4 รถจักรยานยนต์ 400 cc (บิ๊กไบค์) ขึ้นไปวิ่งไม่เกิน 110 กม./ชม.

1.5 รถโรงเรียน วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.

1.6 รถโดยสาร 7-15 คน วิ่งไม่เกิน 100 กม./ชม.

1.7 รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม วิ่งไม่เกิน 45 กม./ชม.

1.8 รถลากจูง รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ วิ่งไม่เกิน 65 กม./ชม.

 

2.ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

3.ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

4.ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท

5.ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท

6.ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมที่มีค่าปรับไม่เกิน 500 บาท โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ส่วนรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอน (รถกระบะ 4 ประตู) ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย

7.ใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท

8.ใช้รถควันดำเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น

การเพิ่มค่าปรับจราจรเพิ่มโทษผู้ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น ได้แก่ การเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท

1.หากมีการทำผิดครั้งแรก โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.หากมีการทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทำความผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท

ค่าปรับจราจรหากมีการแข่งหรือจัดแข่งรถในทางสาธารณะ

1.การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทางด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิเช่น นัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือรถดัดแปลง ปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด อันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือค่าปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.หากเป็นผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ หรือชักชวนแข่งรถ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ร้านที่รับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

*ข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลาง

วิธีเช็กใบสั่งจราจรจริงหรือปลอมทำอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการส่งต่อข้อความในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับใบสั่งจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า “เอกสารแจ้งค่าปรับที่ไม่มีภาพรถขณะกระทำผิดประกอบมาด้วยเป็นใบสั่งปลอม และเป็นการหลอกลวงจากแก๊งมิจฉาชีพที่เปลี่ยนรูปแบบไป อย่าสแกนชำระเงินเด็ดขาด เพราะจะถูกดูดเงินจากบัญชี” ซึ่งเป็นการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ เนื่องจาก ใบสั่งจราจรที่ไม่มีภาพประกอบนั้น เป็นเอกสารสำหรับการแจ้งเตือนครั้งที่ 2 หลังจากเตือนในเอกสารที่ส่งครั้งแรก ตาม พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา 140 และมาตรา 141 ที่ทำการส่งไปรษณีย์ไปยังเจ้าของรถ  จะต้องทำการลงระบบ ptm ซึ่งครั้งแรกจะปรากฏรูปรถทะเบียน ข้อหาที่กระทำความผิดโดยระบบอัตโนมัติ ซึ่ง หากไม่ชำระค่าปรับภายใน 7 วัน ทางระบบจะส่งใบเตือนไปยังเจ้าของรถทางไปรษณีย์ ซึ่งจะไม่มีภาพรถนั่นเองค่ะ ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่าใบสั่งจราจรที่คุณได้รับนั้นเป็นของจริงสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าได้ที่เว็บไซต์ ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน  หรือสามารถโทรสอบถามโดยตรงที่สถานีตำรวจที่ออกใบสั่งดังกล่าว ดังนั้นอย่าส่งต่อข้อความเท็จดังกล่าวหากไม่แน่ใจใบสั่งที่ได้รับจริงหรือเท็จ ก็สามารถตรวจสอบได้ตามเว็บไซต์ดังกล่าวนั่นเองค่ะ

การเคารพกฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนควรพอจะทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า หากคุณไม่จ่ายค่าปรับจราจรและสะสมใบสั่งให้เยอะขึ้น คุณอาจจะโดนออกหมายจับส่งไปที่บ้าน รวมไปถึงอาจจะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ ทั้งนี้การออกกฎหมายจราจรใหม่ก็ออกมาเพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากผู้ขับขี่รถบางท่านมีการกระทำผิดกฎหมายจราจรซ้ำอยู่บ่อยครั้งโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และอาจไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่คนอื่น ซึ่งความประมาทและละเลยกฎหมายนี้อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้นั่นเอง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แนะนำให้ผู้ขับขี่ทำประกันรถยนต์ติดรถไว้สักแผน เพื่อช่วยให้ความคุ้มครองทั้งคุณและรถ และความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไม่คาดฝันดังกล่าวได้ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถที่เสียหาย และค่าเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ซื้อประกันรถยนต์ผ่อน 0% ที่เฮงลิสซิ่ง ซื้อง่ายไม่ต้องจ่ายเงินก้อน คลิกเลย