เมื่อพูดถึงแมลงศัตรูพืชแล้ว หลายคนจะนึกถึงความเสียหายของพืชผลการเกษตร รวมไปถึงเป็นต้นเหตุของโรคพืชที่ทำให้ไม่สามารถนำไปกินหรือขายได้ แต่ทั้งนี้ยังมีแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตร เรียกว่า ตัวห้ำ ตัวเบียน ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เข้ามาทำลายพืชผลการเกษตรของเราได้ เรามาดูกันว่า แมลงศัตรูธรรมชาติ ชนิดไหนบ้างที่มีประโยชน์และไม่จำเป็นต้องฆ่าน้องกันค่ะ 

แมลงศัตรูธรรมชาติ “ตัวห้ำ ตัวเบียน” คืออะไร? 

เมื่อเราพูดถึงแมลงศัตรูพืชแล้ว เราจะนึกถึงการกัดกินใบ ลำต้นของพืช การเป็นต้นเหตุของโรคพืชต่าง ๆ ที่ทำให้พืชผลเสียหาย ทำให้เราต้องหาวิธีกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีแมลงศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร เพราะถือเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่จะเข้ามาช่วยควบคุมจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืช และลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชอีกด้วย ทำให้พืชผักของคุณมีความปลอดภัยจากสารเคมีมากยิ่งขึ้น โดยเรียกแมลงศัตรูพืชธรรมชาติเหล่านี้ว่า “ตัวห้ำ ตัวเบียน”  

1.ตัวห้ำ คืออะไร? 

ตัวห้ำ คือ แมลงที่คอยกินแมลงด้วยกันเป็นอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ได้แก่ มวนพิฆาต ด้วงเต่าลาย ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส เป็นต้น 

มวนพิฆาต  

มวนพิฆาต เป็นตัวห้ำ ตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย ใช้สำหรับควบคุมหนอนผีเสื้อ ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนคืบกะหล่ำ หนอนคืบละหุ่ง หนอนแก้วส้ม ฯลฯ โดยมวนพิฆาตจะใช้ปากแบบแทงแล้วปล่อยสารพิษทำให้หนอนผีเสื้อเป็นอัมพาต จากนั้นจึงดูดกินเป็นอาหาร  

การใช้งาน  

  • พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ปล่อยมวนพิฆาต 100 ตัวต่อไร่  
  • ไม้ผล ปล่อยมวนพิฆาต 100 ตัวต่อต้น  

ด้วงเต่าลาย 

ด้วงเต่าลาย เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย ใช้สำหรับควบคุมเพลี้ย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไข่แมลงศัตรูพืช เป็นต้น โดยจะใช้ปากในการกัดกินเพลี้ยเป็นอาหาร   

การใช้งาน  

  • พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ปล่อยด้วงเต่าลาย  100 ตัวต่อไร่  
  • ไม้ผล ปล่อยด้วงเต่าลาย 100 ตัวต่อต้น  

แมลงช้างปีกใส 

แมลงช้างปีกใส เป็นตัวห้ำเฉพาะตัวอ่อน ใช้สำหรับควบคุมเพลี้ย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง โดยใช้ส่วนหัวที่มีเขี้ยวเพื่อใช้จับศัตรูพืชและดูดกินของเหลวจากแมลงศัตรูพืช โดยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสจะอำพรางตัว โดยการนำเอาซากแมลงขึ้นไปเก็บบนหลังจนมองไม่เห็นลำตัว เมื่อพบแมลงศัตรูพืช  

การใช้งาน  

  • ปล่อยแมลงช้างปีกใส 100 ตัวต่อไร่ 

มวนเพชฌฆาต 

มวนเพชฌฆาต เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย ใช้สำหรับควบคุมหนอนผีเสื้อ ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนคืบกะหล่ำ หนอนคืบละหุ่ง หนอนแก้วส้ม เป็นต้น โดยใช้ปากแบบแทงแล้วปล่อยสารพิษทำให้หนอนเป็นอัมพาต จากนั้นจึงดูดกินเป็นอาหาร  

การใช้งาน 

  • พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ปล่อยมวนเพชฌฆาต 100 ตัวต่อไร่ 
  • ไม้ผล ปล่อยมวนเพชฌฆาต 100 ตัวต่อต้น 

 

2.ตัวเบียน คืออะไร? 

ตัวเบียน จะแตกต่างจากตัวห้ำตรงที่ ตัวเบียนจะไม่ได้กินแมลงด้วยกัน แต่จะใช้วิธีการขยายพันธุ์ โดยใช้ไข่และตัวอ่อนของศัตรูพืชเป็นสถานที่ในการเพาะตัวอ่อน โดยตัวเบียนจะฝังไข่ไว้ในไข่และตัวอ่อนของเหยื่อ และเจริญเติบโตจากภายในตัวเหยื่อออกมา และขยายพันธุ์ต่อไป ได้แก่ แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา แตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้ แตนเบียนหนอนใยผัก แมลงหางหนีบ ไรตัวห้ำ ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ แมลงภู่ ผึ้ง 

ที่มาภาพ : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่

แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา 

แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา ใช้สำหรับควบคุมไข่ของผีเสื้อศัตรูพืช เช่น หนอนกออ้อย หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนแก้วส้ม หนอนกออ้อย เป็นต้น โดยวางไข่ในไข่ของหนอนผีเสื้อเมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยแล้ว จะเจาะออกมา เพื่อผสมพันธุ์และทำลายไข่ศัตรูพืชฟองใหม่ต่อไป 

การใช้งาน 

  • ปล่อยแตนเบียน  20,000 ตัวต่อไร่ โดยนำแผ่นแตนเบียนไปติดไว้กับใบพืชให้กระจายทั่วทั้งแปลง ปล่อยในช่วงเวลาเย็น แต่ละจุดควรมี ระยะห่างกัน 15-20 เมตร โดยปล่อย ทุก 15 วัน 

ที่มาภาพ : ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)

แตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้

แตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้ ใช้สำหรับควบคุมแมลงวันผลไม้ชนิดต่าง ๆ โดยกำจัดหนอนโดยการวางไข่ในตัวหนอนที่อยู่ในผลไม้ และเจริญเติบโตอยู่ภายในจนเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะเจาะออกมา เพื่อผสมพันธุ์และทำลายหนอนแมลงวันผลไม้ตัวใหม่ต่อไป 

การใช้งาน 

  • การใช้แตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้ ไม่สามารถรักษาผลไม้ที่ถูกทำลายแล้วได้ แต่จะช่วยลดจำนวนพ่อแม่พันธุ์แมลงวันผลไม้ที่จะทำความเสียหายในรุ่นถัดไป 

ที่มาภาพ : สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

แตนเบียนหนอนใยผัก 

แตนเบียนหนอนใยผัก เป็นแตนเบียนที่ใช้สำหรับควบคุมหนอนใยผัก โดยวางไข่ในตัวหนอน และจะเจริญเติบโตอยู่ภายใน เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่จะเจาะออกมาเพื่อเข้าไปยังดักแด้ และเข้าสู่ตัวเต็มวัยเพื่อเข้าทำลายหนอนใยผักตัวใหม่ต่อไป 

การใช้งาน 

  • ปล่อยแตนเบียน 100 ตัวต่อไร่ โดยปล่อยในช่วงเช้าหรือเย็น แนะนำว่าควรมีไม้ดอก เพื่อเป็นแหล่งอาหารผลิตน้ำหวานให้แตนเบียนกิน 

แมลงหางหนีบ 

แมลงหางหนีบ เป็นตัวห้ำที่ใช้ควบคุมหนอนและเพลี้ย ได้แก่ หนอนเจาะข้าวโพด หนอนกออ้อย หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไข่แมลง ฯลฯ 

กำจัดหนอนและเพลี้ยโดยใช้แพนหางคีมหนีบตัวเหยื่อกินเป็นอาหาร หากเป็นเพลี้ยอ่อนก็จะกัดกินโดยตรง  

การใช้งาน 

  • พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ปล่อยแมลงหางหนีบ อัตรา 100 ตัวต่อไร่ 
  • ไม้ผลปล่อย 100 ตัวต่อต้น  

ไรตัวห้ำ 

ไรตัวห้ำ เป็นตัวห้ำทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ลักษณะคล้ายแมงมุมขนาดเล็ก ใช้สำหรับควบคุมไรแดง โดยดูดกินไรศัตรูพืชและเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช และยังสามารถชอนไชเข้าไปกินไรแดงในทุกส่วนของพืชได้ 

การใช้งาน 

  • พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ปล่อยไรตัวห้ำ 2,000 ตัวต่อไร่ 
  • ไม้ผล ปล่อยไรตัวห้ำ 2,000 ตัวต่อต้น 

ตั๊กแตนตำข้าว 

ตั๊กแตนตำข้าว เป็นตัวห้ำทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย มักจะล่าแมลงตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร เช่น หนอน แมลง และตั๊กแตน โดยใช้ขา หน้าทั้ง 2 คู่สำหรับจับและปากกัดกินเหยื่อ 

แมลงปอ 

แมลงปอ เป็นตัวห้ำเฉพาะตัวเต็มวัยจะกินแมลงจำพวก ยุง แมลงหวี่ขาว และแมลงวัน โดยจะบินโฉบเพื่อจับแมลงพวกนี้กินเป็นอาหาร 

 

แมลงภู่ 

แมลงภู่ เป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรให้กับดอกไม้และกินน้ำผึ้งเป็นอาหาร มักจะอาศัยอยู่เพียงตัวเดียว และขุดทำรังอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ที่แห้งตายบางชนิดหรือในดิน   

ผึ้ง 

ผึ้ง เป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรให้กับดอกไม้และกินน้ำผึ้งเป็นอาหาร โดยจะใช้ขาหลังสำหรับเก็บเกสรและผสมเกสร  ผึ้งจะอาศัยอยู่เป็นรังขนาดใหญ่ 

แมลงศัตรูพืชธรรมชาติ ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้โดยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการปลูกพืช ช่วยลดทั้งต้นทุนในการปลูกพืชและลดการใช้สารเคมี เมื่อรู้อย่างนี้แล้วหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถแยกความแตกต่างระหว่างแมลงศัตรูพืชและตัวห้ำตัวเบียน ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดและไม่จำเป็นต้องเสียเวลากำจัดน้องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากคุณกำลังหาเงินทุนสำหรับทำการเกษตร แนะนำสินเชื่อเฮงเปลี่ยนรถเป็นเงิน เปลี่ยนรถเป็นเงินก้อนพร้อมใช้ ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถกระบะ หรือรถเพื่อการเกษตร ก็สามารถนำมาขอสินเชื่อได้ เงินมีใช้รถมีขับ สนใจสอบถามได้ที่เฮงลิสซิ่งทุกสาขา มองหาตึกสีเขียวใกล้บ้าน โทร.1361 หรือคลิกปุ่มสีแดงด้านล่างนี้เลย 

สมัครสินเชื่อ