เนื้อหาของบทความ

ในช่วงวันเฉลิมฉลองและการสังสรรค์เรามักจะพบว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาร่วมอยู่ในวงสังสรรค์ แต่เมื่อคุณเดินทางกลับบ้านอาจจะต้องพบกับด่านตรวจแอลกอฮอล์ โดยผู้ขับขี่รถอาจจะต้องได้มีการเป่าแอลกอฮอล์ เพื่อตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และหากพบว่าผู้ขับขี่เข้าข่ายเมาแล้วขับจะมีโทษตามกฎหมายอย่างไร บทความนี้มีความรู้เรื่องกฎหมายเมาแล้วขับมาฝากกันค่ะ

เป่าแอลกอฮอล์ไม่เกินเท่าไหร่ ไม่โดนจับ

อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่รายงานจากข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ในระบบ MOT DATA CATALOG ปี 2563 – 2564 พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดจากการเร็วขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด คิดเป็น 78% คน/รถ/สัตว์ตัดหน้ากระชั้นชิด คิดเป็น 8% หลับใน คิดเป็น 4% เมาสุรา คิดเป็น 3% และฝ่าฝืนสัญญาณไฟ-เครื่องหมายจราจร หรืออุปกรณ์ยานพาหนะบกพร่อง คิดเป็น 2% แม้ว่าการเมาสุราจะไม่ได้เป็นสาเหตุแรก ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุ แต่การเมาแล้วขับกลับเป็นจุดเริ่มต้นของของความประมาทในการขับขี่รถ เพราระเมื่อเริ่มมีอาการเมา สติสัมปชัญญะจะเริ่มลดลง การตัดสินใจและควบคุมส่วนลดลงเราจึงมักจะเห็นข่าวคนที่เมาแล้วขับมักจะเกิดอาการหลับใน หรือจับรถเร็วเกินขนาดจนไม่สามารถควบคุมรถได้ และเป็นที่มาของอุบัติเหตุที่น่าเศร้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลมักจะมีการตั้งด่านตรวจเป่าแอลกอฮอล์ ซึ่งบางคนมักจะหลีกเลี่ยงการเป่าแอลกอฮอล์ เพราะกลัวว่าจะมีระดับปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการอัพเดทเงื่อนไขเกี่ยวกับการเป่าแอลกอฮอล์กับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากเดิมจากที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีความผิดในข้อหาเมาแล้วขับ แต่ปัจจุบันนี้หากผู้ขับขี่เป่าแอลกอฮอล์แล้วพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเมาแล้วขับแล้ว นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่เป่าแอลกอฮอล์แล้วพบว่าเมาแล้วขับดังนี้

กฎหมายเมาแล้วขับ มีอะไรบ้าง

กฎหมายเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

สำหรับผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”

ปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน

บทลงโทษสำหรับผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ

ในส่วนของบทลงโทษหากผู้ขับขี่เมาแล้วขับ หรือไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์  มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000  บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ

จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส

จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000 – 120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

จำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

เป่าแอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์คุ้มครองหรือไม่

ประกันรถยนต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ทั้งนี้สำหรับประกันรถยนต์ภาคบังคับ ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุใด พ.ร.บ.รถยนต์ จะให้ความคุ้มครองคน ทั้งผู้เอาประกันและผู้เสียหายโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด  โดยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ส่วนค่าเสียหายของรถนั้น พ.ร.บ.จะไม่คุ้มครองแต่อย่างใด ส่วนประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ เช่น ประกันชั้น 1, ประกันชั้น 2+ และประกันชั้น 3+ หากคุณเมาแล้วขับประกันรถยนต์จะไม่คุ้มครองทุกกรณีไม่ว่าคุณจะทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็ตาม แต่จะยังคุ้มครองฝ่ายเสียหายตามเงื่อนไขของประกันรถยนต์นั้น ซึ่งบริษัทประกันจะไล่เบี้ยค่าเสียหายทั้งหมดจากผู้เอาประกันเพื่อนำไปชดใช้ให้ผู้เสียหายอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการปรับเงื่อนไขประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจฉบับใหม่จากที่มีการปรับระดับเป่าแอลกอฮอล์ใหม่เช่นเดียวกัน ได้แก่

1.เพิ่มเงินชดเชยค่าสินไหมให้ผู้ประสบภัย

หากอุบัติเหตุรถชนนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต จะได้รับเงินชดเชยจากพ.ร.บ.และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจรวมกว่า 1 ล้านบาท แต่ในส่วนของเบี้ยประกันอาจจะมีราคาสูงขึ้นตามความคุ้มครองนั่นเองทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันด้วย

2.กรณีใช้รถทำผิดกฎหมาย

หากรถที่เกิดอุบัติเหตุได้นำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ทั้งการปล้นชิงทรัพย์ ขนยาเสพติด หลบหนีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเกิดอุบัติเหตุรถชนในภายหลัง ประกันรถยนต์จะไม่จ่ายเงินชดเชยแต่อย่างใดแถมยังมีโทษทางอาญาอีกด้วย

3.การเคลมประกันโดยทุจริต

หากผู้ขับขี่มีการขอเคลมโดยทุจริต  เช่น การขอเคลมสีรอบคัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุแต่อย่างใด ถือเป็นการเคลมสีที่เป็นเท็จ หากบริษัทประกันตรวจสอบแล้วพบว่าการเคลมเป็นเท็จ นอกจากประกันจะไม่เคลมให้แล้ว ยังอาจถูกยกเลิกประกันโดยไม่ได้รับเงินคืนอีกด้วย

ทำไม แอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไร

แอลกอฮอล์ มีชื่อทางเคมีว่า  Ethanol หรือ Ethyl Alcohol  เป็นสารกดประสาทชนิดหนึ่ง เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ร่างกายจะกำจัดออกทุกวิถีทาง ในระหว่างที่ตับต้องทำหน้าที่อย่างหนักในการกำจัดแอลกอฮอล์ออก แอลกอฮอล์ก็ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นในร่างกาย เมื่อแอลกอฮอล์เดินทางไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เพื่อดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด ตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงมากเกินไป หากเราท้องว่างระดับน้ำตาลในเลือดจะน้อยอยู่แล้วยิ่งดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมาก ๆ  จะยิ่งถูกฮอร์โมนอินซูลินออกมาเก็บน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลง จนเกิดอาการน้ำตาลตก ทำให้ผู้ดื่มเริ่มมีอาการมึนงง เริ่มเมา แต่คนที่มีการกินอาหารหรือกับแกล้มรองท้องมาก่อนจะเกิดอาการแบบนี้ได้น้อยกว่าคนที่มีอาการท้องว่าง จากนั้นเมื่อในร่างกายเต็มไปด้วยแอลกอฮอล์หมุนเวียนในกระแสเลือดแล้ว จะเดินทางไปที่สมองต่อ เมื่อแอลกอฮอล์เดินทางไปที่สมองแล้วจะมีการซึมเข้าไปสมองส่วนต่าง ๆ ได้แก่

สมองส่วนหน้า (Frontal lobe)

สมองส่วนหน้า มีทำหน้าที่ควบคุมการตัดสินใจ อารมณ์ ความคิด สติปัญญา บุคลิกภาพ หากดื่มมากไป จะทำให้เราขาดความยับยั้งชั่งใจ ตัดสินใจผิดพลาด บุคลิกภาพที่ผิดปกติอาจเผยออกมา เช่น จากคนเงียบเรียบร้อย อาจจะกลายเป็นคน เฮฮา กล้าแสดงออกเป็นพิเศษ  สำหรับคนที่เป็น Alcoholism สมองส่วนนี้จะถูกทำลาย ส่งผลให้มีความผิดปกติในการเข้าสังคม เป็นต้น

สมองส่วนความจำ (Hippocampus)

สมองส่วนความจำ เป็นหน่วยเก็บความทรงจำทั้งดีและที่อยากลืม หากแอลกอฮอล์ซึมเข้าไปถึงส่วนนี้เราจะสามารถรื้อฟื้นความทรงจำที่อยากลืมออกมาได้ ทำให้เกิดอาการร้องไห้ฟูมฟายพูดในสิ่งที่อยากลืมออกมา เรียกได้ว่า กินเหล้าไม่ได้ช่วยลืมอะไรแย่ ๆ กลับเป็นการเรียกความทรงจำต่าง ๆ กลับมาก็ว่าได้ สำหรับคนที่เป็น Alcoholism สมองส่วนนี้จะถูกทำลายจะทำให้การเรียนรู้ผิดปกติ และเป็นโรคความจำเสื่อม

สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)

สมองส่วนไฮโปทาลามัส  ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความหิว ความอิ่ม การนอนหลับ หากส่วนไฮโปทาลามัสถูกซึมซับด้วยแอลกฮอล์ จะทำให้ หิวง่าย กระหายน้ำ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตจะผิดปกติแปรปรวน และคุณภาพการนอนนั้นผิดปกติ

สมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum)

สมองส่วนซีรีเบลลัม ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย เรามักจะเห็นคนที่ดื่มเหล้ามากเกินไป เดินเซไปเซมา เดินชนสิ่งของหรือคน และไม่สามารถทรงตัวได้

ก้านสมอง (Brain Stem)

ก้านสมองจะคอยควบคุมการส่งถ่ายข้อมูลจากสมองไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากมีปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไปจะทำให้การร่างกายมีการรับรู้และตอบสนองได้ช้าลง

ก้านสมองส่วนท้ายหรือเมดัลลา (medulla oblongata)

ก้านสมองส่วนท้ายหรือเมดัลลา มีหน้าที่ใหญ่ในการควบคุม การอาเจียน การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันเลือด หากใครดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จะทำให้คลื่นไส้ง่าย และหากดื่มมากเกินที่ร่างกายจะรับไหวจะทำให้ถึงขั้น หมดสติ ช็อค หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้

อาการเมาค้าง คืออะไร

อาการเมาค้าง หรือที่หลายคนเรียกว่าอาการแฮงค์ (Hang over) มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับนักดื่ม โดยมักจะมีอาการขาดน้ำ ปวดหัว หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือมีไข้ สร้างความทรมานให้นักดื่มในเช้าวันใหม่ไม่น้อย เนื่องมาจาก ร่างกายมีการขับของเสียในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งมักขับสารอาหารที่สำคัญ อย่าง แมกนีเซียม วิตามินบี และโพแทสเซียม ออกไปด้วย ทำให้เกิดการคั่งของสารแอลดีไฮด์ มีผลต่อการลดปริมาณน้ำตาลในเลือดและรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินจึงเกิดเป็นอาการปวดศีรษะขึ้น เบื้องต้นเราสามารถจัดการกับอาการเมาค้างได้ดังนี้

1.หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เพราะยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ กลับทำให้ร่างกายรับแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอาการเมาค้างยิ่งแย่ลงนั่นเอง

2.ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ

เพื่อเป็นการเติมน้ำให้กับร่างกาย เพราะอาการเมาค้าง ร่างกายของเราจะขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อยทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุในร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องดื่มน้ำเปล่าเยอะ  ๆ เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายและยังช่วยขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้อีกด้วย

3.เติมแป้งให้กับร่างกาย

การกินคาร์โบไฮเดรตจะช่วยเพิ่มพลังงานและน้ำตาลในเลือด เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดหัวนั่นเอง

4.กินเมนูร้อน

การจิบชาร้อน ซดซุปร้อน ๆ หรืออาหารจำพวกโจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว จะช่วยให้ลดอาการเมาค้าง ลดอาการวิงเวียนศีรษะจากอาการเมาค้างได้บ้าง  

5.เครื่องดื่มลดอาการเมาค้าง เช่น

– นมสด 1 แก้ว  มีฤทธิ์ในการดูดซึมแอลกอฮอล์ที่อยู่ภายในร่างกายของเรา

– เครื่องดื่มเกลือแร่ ประเภทที่เป็นแบบชงละลายที่ขายตามร้านขายยา ช่วยฟื้นฟูอาการขาดน้ำในร่างกาย ทำให้ร่างกายสร่างเมา ลดอาการเมาค้างให้ดีขึ้นได้

– น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เนื่องจากวิตามินซีในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้มคั้น น้ำฝรั่ง น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง น้ำมะขามป้อม จะช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะ หรือลดอาการพะอืดพะอมอยากอาเจียนได้ นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในผลไม้ยังช่วยลดการขาดน้ำในร่างกายได้ด้วย

– น้ำโซดาเปล่าหรือน้ำอัดลม เนื่องจากน้ำอัดลมจะเข้าไปลดสารเอทานอลในร่างกายได้ ลดอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ได้

– น้ำมะพร้าว เป็นเครื่องดื่มประเภทเดียวกับเครื่องดื่มเกลือแร่ จึงมีความสมดุลของสารอิเล็กโทรไลท์ ช่วยฟื้นฟูอาการขาดน้ำในร่างกาย ลดอาการเมาค้างให้ดีขึ้นได้

-น้ำว่านหางจระเข้ เนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้ จะเข้าไปช่วยล้างพิษในตับ ลดอาการเมาค้างได้ เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ไม่ควรทำหลังจากดื่มแอลกอฮอล์

นอกจาการวิธีจัดการอาการเมาค้างที่เราได้แนะนำไปแล้ว ยังมีสิ่งที่นักดื่มไม่ควรทำหลังจากที่สังสรรค์ปาร์ตี้มาอย่างหนักเพื่อจะได้ไม่เกิดอาการเมาหนักกว่าเดิมมาแนะนำกันค่ะ

1.ห้ามขับรถ

เราได้อธิบายเกี่ยวกับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ว่ามีผลต่อสมองอย่างไรแล้ว ทำให้เราเห็นว่าแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อสมองโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งนี้การดื่มไม่ขับจึงเป็นสิ่งที่นักดื่มควรทำมากที่สุดหรือควรจะให้สร่างเมาก่อนขับรถ

2.ห้ามกินยาแก้ปวด

หลายคนเลือกให้วิธีกินยาพาราบรรเทาอาการปวดศีรษะจากอาการเมาค้างซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะยาและแอลกอฮอล์ผสมกันจะส่งผลอันตรายต่อตับนั่นเอง

3.ห้ามอาบน้ำทันที

หลังจากปาร์ตี้มาอย่างหนักไม่ควรกลับมาถึงบ้านแล้วรีบอาบน้ำทันที เพราะจะทำให้อาการเมาของคุณนั้นมากกว่าเดิม  

4.ห้ามเป่าพัดลม

เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปจะรู้สึกว่าร่างกายเราร้อนวูบวาม ซึ่งเราไม่ควรจะเอาพัดลมมาเปิดจ่อทันที เพราะร่างกายจะสูญเสียความร้อนเร็วเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและอาจเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตกอีกด้วย

5.ห้ามหลับยาว

หลายคนที่มีอาการเมาค้าง ปวดศีรษะอาจจะรู้สึกว่าการได้นอนหลับยาว ๆ อาจจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดี แต่กลับกลายเป็นว่าการหลับยาวหลังดื่มหนักกลับทำให้ตื่นเช้ามามีอาการมึนงง กับอาการเมาค้างมากกว่าเดิมได้

ดื่มไม่ขับถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วจำเป็นต้องขับรถกลับบ้านเอง หรือหากจำเป็นต้องมีนัดพบปะสังสรรค์ควรจะให้คนใกล้ชิดมารับกลับบ้าน และไม่ต้องกังวลว่า หากเจอด่านจะต้องโดนเป่าแอลกอฮอล์แล้วจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะนักดื่มบางคนกลับหลีกเลี่ยงที่จะเป่าแอลกอฮอล์ซึ่งถือเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เราจะเห็นว่าการทำประกันรถยนต์  ไม่ว่าจะเป็นการทำพ.ร.บ. และการทำประกันภาคสมัครใจก็ตาม ก็ยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ขับขี่ ผู้โดยสารและผู้ประสบภัยอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ทางที่ดีที่สุดคือ การเคารพกฎหมายจราจร เมาไม่ขับ และหากมีการเป่าแอลกอฮอล์ก็ควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้เกิดปัญหาขึ้นมาตามมาในภายหลังนั่นเอง