ทุกปีที่คุณจะต้องเตรียมเงินเพื่อต่อภาษีรถและพ.ร.บ.แต่ก่อนที่จะต่อภาษีรถประจำปีได้นั้น มีสองสิ่งที่เจ้าของรถต้องทำก่อน คือ การนำรถไปตรวจสภาพ และ การทำพ.ร.บ.รถ เพราะหากไม่ทำสองสิ่งนี้ก่อน ก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถได้ สำหรับ ตรวจสภาพรถ ก่อนต่อภาษี ต้องนำรถไปตรวจที่ไหน ตรวจส่วนไหนของรถบ้างมีอะไรใหม่ในปี 2567 บ้าง มาเช็กไปพร้อมกันเลยค่ะ 

 

ทำไมต้องบังคับ ตรวจสภาพรถ ก่อนต่อภาษีรถด้วย 

สงสัยหรือไม่ทำไมจะต้องมีการตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษี ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 บัญญัติว่า รถที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี โดยนับตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก จนถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี เช่น หากรถเก๋งของคุณจดทะเบียนปี พ.ศ.2565 เมื่อครบ 7 ปี จะต้องเข้ารับตรวจสภาพรถปี พ.ศ.2572 ทั้งนี้การตรวจสภาพรถก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนที่ใช้รถใช้ถนนคนอื่น และสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งรถที่นำมาใช้บนท้องถนน ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยรถที่ต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีนั้น ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ,รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน , รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งทั้งหมดต้องมีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป ทั้งนี้คุณสามารถนำรถไปตรวจสภาพรถล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี โดยนำเอกสารเข้าไปศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ ตรอ. หากผลการตรวจสภาพรถผ่าน สถานตรวจสภาพรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แต่หากพบว่ารถไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพจะแจ้งให้เจ้าของรถทราบ เพื่อนำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องก่อน แล้วจึงนำรถมาตรวจสภาพรถใหม่ที่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ ตรอ. เดิมอีกครั้งภายใน 15 วัน แต่จะเสียค่าตรวจสภาพในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการเดิม แต่หากเกิน 15 วัน หรือนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. อื่น จะเสียค่าบริการตรวจสภาพรถเต็มอัตราเหมือนเดิม 

ตรวจสภาพรถ ใช้เอกสารอะไรบ้าง 

เตรียมนำรถไปตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีรถ รถที่จะนำไปตรวจสภาพจะต้องเป็นรถยนต์ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป สำหรับเอกสารที่ต้องเอาไปตรวจสภาพรถด้วย ได้แก่ 

1.สมุดทะเบียนรถ หรือสำเนาทะเบียนรถ 

2.รถที่จะนำไปตรวจสภาพ 

3.ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถประจำปี 

  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท 
  • รถยนต์ (รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้) ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท 
  • รถจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ Big Bike คันละ 60 บาท 

 

ตรวจสภาพรถ ตรวจอะไรของรถบ้าง 

การนำรถไปตรวจสภาพก่อนต่อภาษี เชื่อว่าหลายคนเลือกตรวจสภาพรถที่ ตรอ.ใกล้บ้าน ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอเอกสารยืนยันว่ารถของคุณ ได้ตรวจสภาพรถยนต์ผ่านแล้ว และสามารถขับขี่ได้ตามมาตรฐาน โดยขั้นตอนการนำรถให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ จะเห็นว่ามีทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เข้ามาใช้ในการตรวจสภาพรถยนต์ของคุณ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าตรวจอะไรบ้าง ทั้งนี้เราจะมาบอกคุณว่าตรอ.ตรวจสภาพรถของคุณจุดไหนบ้าง 

1.ตรวจสอบเล่มทะเบียนหรือสำเนาทะเบียนรถยนต์  

การตรวจเล่มทะเบียนรถยนต์ก่อนตรวจสภาพรถยนต์นั้น เป็นการตรวจสอบว่ารายละเอียดรถยนต์ ชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง ว่ามีความถูกต้องตรงกับรถยนต์ของคุณหรือไม่ หากรถของคุณมีการติดแก๊ส จะต้องมีใบตรวจสภาพระบบแก๊ส LPG และ NGV มาก่อนที่จะนำรถมาเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. ถ้าหากไม่มีใบตรวจสภาพระบบแก๊ส จะยังไม่สามารถตรวจสภาพรถยนต์ได้ และการติดตั้งแก๊ส LPG/NGV ต้องลงเล่มแล้วเท่านั้น 

2.ตรวจสภาพรถยนต์ภายนอก 

เป็นการตรวจส่วนต่าง ๆ ภายนอกรถว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้ปกติหรือไม่ เช่น ล้อและยาง ศูนย์ล้อ ระบบไฟส่องสว่าง  ค่าไฟพุ่งไกล ไฟพุ่งต่ำ ตำแหน่งไฟพุ่งไกล ด้านซ้าย-ขวา ตำแหน่งไฟพุ่งต่ำ ด้านซ้าย-ขวา สภาพตัวถังและโครงรถ ประตูและพื้นรถ ปัดน้ำฝน เป็นต้น 

ข้อควรรู้ การทดสอบศูนย์ล้อคู่หน้า โดยขับรถผ่านเครื่องทดสอบด้วยความเร็วประมาณ 3-5 กม./ชม. ในขณะที่ล้อหน้าผ่านเครื่องทดสอบ ค่าเบี่ยงเบนของศูนย์ล้อหน้าจะต้องไม่เกิน +-5 เมตรต่อกิโลเมตร 

3.ตรวจสภาพรถยนต์ภายใน 

แตรรถยนต์ มาตรวัดความเร็ว เข็มขัดนิรภัย เบรกมือ เบรกเท้า ประสิทธิภาพห้ามล้อ ประสิทธิภาพเบรกมือ แรงห้ามล้อของแต่ละล้อ น้ำหนักลงเพลาหน้า-หลัง 

ข้อควรรู้ การทดสอบระบบเบรกโดยการเหยียบเบรกจนสุด 

เบรกมือ แรงเบรกทุกล้อ รวมกันไม่น้อยกว่า 20% ของน้ำหนักรถ 

เบรกเท้า แรงเบรกทุกล้อ รวมกันไม่น้อยกว่า 50% ของน้ำหนักรถ 

ผลต่างของแรงเบรก ผลต่างแรงเบรกล้อซ้าย-ขวาต้องไม่เกิน 25% ของแรงเบรกสูงสุดในเพลานั้น 

4.ตรวจสภาพใต้ท้องรถ 

ระบบบังคับเลี้ยวและพวงมาลัย ถังเชื้อเพลิง และท่อส่ง เครื่องล่าง หมายเลขเครื่องยนต์ 

5.ตรวจค่าไอเสีย-วัดเสียงท่อไอเสีย 

ตรวจวัดขณะเครื่องยนต์เดินเบาในขณะเกียร์ว่าง ปิดระบบปรับอากาศ โดยวัดปริมาณ CO และ HC จากปลายท่อไอเสียจำนวน 2 ครั้ง แล้วจึงนำค่ามาหาเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ดังนี้ 

  • การตรวจสอบค่าไอเสีย 

ต้องผ่านเกณฑ์วัดค่าก๊าซ CO และ HC โดยแยกประเภทรถและตามปีจดทะเบียนรถ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (เก๋ง) จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 – 31 ธ.ค. 2549 CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 HC ไม่เกินร้อยละ 200 ส่วนในล้านส่วน รถยนต์อื่นนอกจากข้อ 1 ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค. 2550 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือรถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 0.5 HC ต้องไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน 

  • การตรวจวัดควันดำ 

จะตรวจวัดขณะเร่งเครื่องประมาณ 3-4 พันรอบ ในเกียร์ว่างและปิดแอร์ ผ่านเครื่องมือวัดแบบกระดาษกรอง (Filter) โดยเก็บค่าควันดำจำนวน 2 ครั้ง ใช้ค่าที่วัดได้สูงสุด ค่าควันดำต้องไม่เกิน 50% และเครื่องมือวัดระบบวัดความทึบแสง (Opacity) ค่าควันดำต้องไม่เกิน 45% 

  • การวัดความดังของท่อไอเสีย 

กรณีเป็นเครื่องยนต์ดีเซล จะเร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่ง ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน จะเร่งเครื่องยนต์ประมาณ 3 ใน 4 ของรอบที่ให้กำลังม้าสูงสุดจนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงานด้วยความเร็วรอบคงที่ ค่าระดับเสียงสูงสุดต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ 

6.การรายงานผลการตรวจสภาพรถ 

รถที่ผ่านการตรวจสภาพรถยนต์เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ ตรอ.จะจัดพิมพ์รายงานผลการตรวจสภาพรถจากระบบสารสนเทศของกรมการขนส่งทางบก โดย ตรอ.จะจัดเก็บเอกสารส่วนที่ 1 และมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้กับผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยถือเป็นใบรับรองการตรวจสภาพและให้มีอายุ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผ่านการตรวจสภาพรถ 

  • กรณีไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการตรวจสภาพและข้อบกพร่องให้ผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพรับทราบ พร้อมทั้งมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้เจ้าของรถเพื่อให้เป็นหลักฐานในการตรวจสภาพรถอีกครั้งภายหลังจากแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว โดยมีรายละเอียดการตรวจสภาพรถใหม่ ดังนี้ 
  • กรณีตรวจสภาพรถยนต์ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรก ให้ตรวจเฉพาะรายการข้อบกพร่องที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพ 
  • กรณีตรวจสภาพรถใหม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรกให้ตรวจสภาพรถยนต์ใหม่ทุกรายการ 

 

รถที่ไม่สามารถนำไปตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. 

โดยปกติแล้วหลายคนเลือกให้บริการ ตรอ.เพื่อตรวจสภาพรถและฝากต่อภาษี แต่มีรถบางลักษณะที่ต้องนำไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น คือรถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนี้ 

1.รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ ยกตัวอย่างเช่น รถเคยยกเครื่องแล้วเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ใส่แทน เปลี่ยนลักษณะรถผิดไปจากเดิม เป็นต้น 

2.รถที่ไม่สามารถตรวจสอบเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ได้ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขเลข ขูด ลบ หรือไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ 

3.รถที่เจ้าของแจ้งไม่ใช่รถชั่วคราว หรือไม่ใช้ตลอดไปไว้ 

4.รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า เช่น กท-00001,กทจ-0001 จึงต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อนำมาเสียภาษีประจำปี 

5.รถที่มีปัญหาเคยถูกขโมยแล้วได้คืน 

6.รถที่ขาดต่อทะเบียนเกิน 1 ปี คันละ 200 บาท รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 บาท กิโลกรัม คันละ 300 บาท 

 

ตรวจสภาพรถแล้ว อย่าลืมซื้อพ.ร.บ.ก่อนต่อภาษี 

หลังจากที่ตรวจสภาพรถเรียบร้อยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก่อนที่จะต่อภาษีรถคือ การซื้อ พ.ร.บ.เพื่อเป็นการทำประกันภัยให้แก้ผู้ประสบภัยจากรถในกรณีที่รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ โดยคุ้มครองทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และคู่กรณีหรือบุคคลภายนอก หากไม่ต่อพ.ร.บ.ก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถได้ จึงจำเป็นจะต้องซื้อ พ.ร.บ.ทุกปี โดยจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทนดังนี้ 

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริงคนละไม่เกิน 80,000 บาท 

2.ค่าสินไหมทดแทน กรณี สูญเสียอวัยวะ*/ทุพพลภาพอย่างถาวรหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สูงสุดคนละ 500,000 บาท 

3.ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต สูงสุดคนละ 500,000 บาท 

4.เงินชดเชยกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน 

หมายเหตุ *กรณีสูญเสียอวัยวะ เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 

พ.ร.บ.จะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัท พ.ร.บ.ได้รับคำร้องขอ โดยไม่รอการพิสูจน์ความรับผิด ดังนี้ 

1.ค่ารักษาพยาบาลตามจริง คนละไม่เกิน 30,000 บาท 

2.ค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร   คนละไม่เกิน 35,000 บาท 

3.ค่าปลงศพ ไม่เกิน 35,000 บาท 

4.หากเกิดความเสียหาย หลายกรณีรวมกัน จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันแล้วไม่เกินคนละ 65,000 บาท 

หมายเหตุ :กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกัน  จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น 

การ ตรวจสภาพรถ และการต่อ พ.ร.บ.เป็นขั้นตอนที่รถทุกคันที่จะต้องทำก่อนที่จะสามารถต่อภาษีรถประจำปีได้ เพราะหากไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวก็จะไม่สามารถต่อภาษีได้นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่เอง เพราะการตรวจสภาพรถ ก็เพื่อเช็กรถประจำปีให้รถของคุณพร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย ส่วนการทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับ ก็ทำเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้รับการคุ้มครองและ ได้รับการรักษาพยาบาลหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแน่นอน จะเห็นว่าทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัย และประโยชน์ของผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถด้วย สำหรับใครที่อยากเพิ่มความคุ้มครองในการเดินทางที่มากกว่าการทำ พ.ร.บ.นั้น แนะนำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ คุ้มครองทั้ง รถ คน อุบัติเหตุรถชน และความเสียหายต่าง ๆ นอกจากนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา บริษัทประกันยังมีบริการช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกันอีกด้วย สนใจซื้อประกันรถยนต์ที่เฮงลิสซิ่ง สินเชื่อสีเขียวใกล้บ้านคุณ โทร.1361 หรือกดปุ่มด้านล่างนี้เลย 

สมัครสินเชื่อ