บังคับใช้แล้วนะ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เป็นเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี จะต้องนั่งคาร์ซีทหรือเบาะนั่งเด็ก เพื่อความปลอดภัยการเดินทาง และยังเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยเหลือชีวิตเด็กหากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันได้ ทั้งนี้ กฎหมายคาร์ซีท 2567 มีอะไรบ้าง เรามีข้อมูลล่าสุดมาฝากกันค่ะ  

อัปเดต กฎหมายคาร์ซีท 2567 

แม้ว่ากฎหมายคาร์ซีทในไทยอาจจะเป็นเรื่องใหม่ และเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งยุโรปนั้น กฎหมายคาร์ซีทมีการบังคับใช้มานานแล้ว เด็กเล็กจะต้องนั่งคาร์ซีทเท่านั้น ส่วนในไทยนั้นที่ผ่านมากฎหมายคาร์ซีทยังไม่ได้มีการบังคับออกมาอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดภาพที่เด็กนั่งตักผู้ปกครองแล้วคาดเข็มขัดด้วยกันกับผู้ปกครอง หรือการอุ้มเด็กทารกไว้ตลอดทางจนถึงจุดหมาย หรือการปูเบาะผ้าเพื่อให้เด็กนอนบนเบาะรถนั้น ซึ่งความจริงแล้วมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียหากเกิดอุบัติเหตุได้ กฎหมายคาร์ซีทในไทยจึงเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนที่มีลูกหลานเด็กเล็กต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตาม โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ระบุว่า เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่นั่งในรถ ต้องมีคาร์ซีท ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่  

1.ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถและที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ  

2.ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat)  

โดยทั้ง 2 แบบต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  

รถไม่มีคาร์ซีท แต่มีเด็กเล็กนั่งในรถ ต้องทำอย่างไร? 

หากคุณวางแผนมีลูกหรือมีเด็กเล็กภายในบ้าน การซื้อคาร์ซีทสักตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของบุตรหลานที่คุณรักนั่นเอง แต่สำหรับใครที่ไม่มีคาร์ซีทแต่มีเด็กเล็กอายุไม่เกิน 6 ปี นั่งอยู่ในรถด้วย จะต้องปฏิบัติตามดังต่อไปนี้  

  1. ขับรถด้วยความเร็วช้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับชิดซ้าย
  2. ให้เด็กนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง / กรณีรถกระบะ หรือกึ่งกระบะให้นั่งโดยสารตอนหน้าได้ แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ
  3. จัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

หากละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท  

เลือกใช้คาร์ซีทอย่างไรให้เหมาะกับลูกหลาน 

เชื่อว่าบรรดาพ่อแม่ที่กำลังเริ่มมองหาคาร์ซีทให้ลูกรัก อาจจะต้องสงสัยว่าคาร์ซีทแต่ละแบบ มีการใช้งานแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนเหมาะสำหรับลูกของคุณ  เฮงมีคำแนะนำมาฝากเหล่าพ่อแม่ดังนี้ค่ะ  

1.ประเภทของคาร์ซีท  

การเลือกคาร์ซีทให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกของคุณ โดยคาร์ซีทแต่ละประเภท ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระ น้ำหนักตัว ความสูงของเด็กแต่ละช่วงวัย โดยคาร์ซีทมีรูปแบบ 3 ประเภทดังนี้ 

  • คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้า สำหรับเด็กแรกเกิด-2 ปี น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้า จะช่วยปกป้องศีรษะ ลำคอและกระดูกสันหลังได้ 
  • คาร์ซีทแบบหันหน้าออก สำหรับเด็ก 2 – 7 ปี น้ำหนักไม่เกิน 9 กิโลกรัม  
  • บูสเตอร์ซีท สำหรับเด็ก 4-12 ปี น้ำหนักประมาณ 15 – 18 กิโลกรัม คาร์ซีทประเภทนี้จะช่วยเสริมความสูง ลำตัวสามารถพิงหลังตามพนักพิงได้ 

2.ติดตั้งคาร์ซีทไว้เบาะหลัง 

การติดตั้งคาร์ซีทไว้เบาะหลัง จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เด็ก เพราะหากติดตั้งไว้เบาะหน้า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยด้านหน้าจะกระแทก อัดเข้าตัวเด็ก  ซึ่งเป็นอันตรายกับเด็กที่นั่งด้านหน้ามาก จึงแนะนำให้ติดตั้งคาร์ซีทไว้ที่เบาะหลัง เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง 

3.ติดตั้งคาร์ซีทโดยหันหน้าเข้าเบาะ (Rear facing) 

การติดตั้งคาร์ซีทโดยหันหน้าเข้าเบาะ (Rear facing) จะช่วยลดการกระแทกศีรษะของเด็กจากการเบรกรถกะทันหัน โดยการติดตั้งประเภทนี้ เหมาะกับเด็กที่มีอายุ 2-4 ขวบ 

4.ศึกษาคู่มือก่อนติดตั้งคาร์ซีท  

เนื่องจากคาร์ซีทแต่ละแบบ จะมีวิธีการติดตั้งที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาคู่มือการติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนั่นเอง

5.คาดเข็มขัดให้ถูกต้อง 

เข็มขัดนิรภัย ถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสารภายในรถ สำหรับการนั่งคาร์ซีทก็เช่นกัน นอกจากจะเลือกคาร์ซีทให้เหมาะกับวัย การคาดเข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้อง ไม่คาดหลวมเกินไป จะช่วยให้ลูกของคุณสามารถนั่งอยู่บนคาร์ซีทได้อย่างปลอดภัย ไม่กระเด็นออกจากคาร์ซีทหากเกิดเหตุไม่คาดฝันได้   

หวังว่าอัปเดต กฎหมายคาร์ซีท 2567 จะช่วยให้บรรดาพ่อแม่เข้าใจความสำคัญของคาร์ซีท และติดตั้งคาร์ซีทให้กับบุตรหลานของตนเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง  แม้ว่าคาร์ซีทจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัยของลูกรักแล้ว มีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก แต่หากเริ่มต้นลูกไม่ยอมนั่ง ร้องไห้งอแงผู้ปกครองอาจใช้วิธีดึงดูดความสนใจ หาของเล่นมาเล่นขณะที่ลูกนั่งบนคาร์ซีท หรือควรไปนั่งข้างคาร์ซีทลูก เพื่อที่ลูกจะได้ไม่รู้สึกเหงาหรืองอแงนั่นเองค่ะ 

สมัครสินเชื่อ