ลำไยมีดีกว่าที่คุณคิด

ลำไย เป็นผลไม้ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในช่วงหน้าฝนนี้  โดยจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดลำพูน ส่วนพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ชนิดแรกคือ ลำไยกะโหลก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลใหญ่ เนื้อหวานอร่อย ซึ่งก็จะแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ เช่น สีชมพู อีดอ อีแดง อีดำ เป็นต้น ส่วนจำพวกที่ 2-5 ก็คือ ลำไยกระดูก ลำไยสายน้ำผึ้ง ลำไยเถา ลำไยขาว และลำไยธรรมดา

               ลำไย นั้นเรียกว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี  ด้วยสรรพคุณและวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ  อยู่มากมาย  เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโซเดียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินบี 12 เป็นต้น ส่วนในด้านสรรพคุณ ลำไยใช้เป็นยารักษาโรคได้แก่ เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคมาลาเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เป็นต้น รวมทั้งรสชาติที่หวานกรอบอร่อย ทำให้หลาย ๆ คนต่างติดใจ ลำไยนั้นนอกจากจะสามารถรับประทานแบบสดได้อร่อยแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง หรือกุ้ยอี้ ได้อีกด้วย โดยเป็นการนำมาใช้เป็นตัวยาของจีนที่สำคัญค่ะ

ประโยชน์ทางยาของลำไยตามสรรพคุณแผนโบราณของไทย

-เมล็ด แก้บาดแผลมีเลือดออก ห้ามเลือด สมานแผล แก้แผลเป็นหนอง 

-ใบ แก้ไข้หวัด แกฝีหัวขาด แก้ริดสีดวงทวาร

-ดอก แก้โรคเกี่ยวกับหนองทั้งหลาย

– ราก ใช้แก้เสมหะและลม ถ่ายโลหิตออกทางทวารหนัก แก้ระดูขาวมากผิดปกติ ขับพยาธิเส้นด้าย

-เปลือกต้นแก้เสมหะ ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด สมานแผล แก้น้ำลายเหนียว 

นอกจากนี้นะคะ ลำไยยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อยีสต์ ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ฤทธิ์เพิ่มความจำ ต้านการเป็นพิษต่อตับ ลดความวิตกกังวล ปกป้องเซลล์ประสาท ปกป้องสมอง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านความเหนื่อยล้า ต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และปรับระบบภูมิคุ้มกัน 

จะเห็นได้ว่าลำไย นอกจากจะเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจและอาหารแล้ว ยังมีประโยชน์ทางยาอีกด้วย จากคุณสมบัติเด่นในการต้านอนุมูลอิสระ และเราสามารถนำเอาศักยภาพของสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และยาได้ค่ะ