ใกล้ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์แล้ว ถือเป็นช่วงที่เงินสะพัดไม่น้อย หลายคนเตรียมเงินไว้สำหรับกลับบ้าน สำหรับใช้จ่าย ซื้อของใหม่เข้าบ้าน หรือกินเลี้ยงสังสรรค์ในครอบครัว แต่ก่อนที่จะถึงเทศกาลสงกรานต์นั้น เราอยากให้คุณมาลองเช็กลิสต์ สุขภาพการเงิน ของคุณดูก่อนว่า สถานการณ์ทางการเงินตอนนี้เป็นอย่าง จะได้วางแผนการใช้เงินช่วงสงกรานต์ได้อย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเงินช็อตหลังสงกรานต์กันค่ะ 

ลิสต์รายจ่ายในชีวิตประจำวัน 

ในชีวิตประจำวันของหลายคนมักจะมีค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ เราลองมาทบทวนว่าค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง โดยจัดหมวดหมู่ เรียงลำดับความสำคัญว่าอันไหนคือความจำเป็น ขาดไม่ได้ หรืออันไหนเป็นรายจ่ายเพียงเพื่อสนองความต้องการเท่านั้น เพื่อที่เราจะได้ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม สามารถตัดรายจ่ายไม่จำเป็นเพื่อมีให้มีเงินเหลือเก็บ และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 

เงินสำรองเพียงพอแล้วหรือยัง 

ในแต่ละวันเราอาจจะเจอกับค่าใช้จ่ายไม่คาดฝัน หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เงินสำรองก้อนนี้จะช่วยคุณจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เช่น ตกงานกะทันหัน เข้ารับการรักษาในร.พ. เป็นต้น โดยปกติแล้วเราควรจะเก็บเงินสำรองอย่างน้อยสำหรับ 3-6 เดือนหรือเก็บเงินในแต่ละเดือนเพื่อไว้เป็นเงินก้อนสำรองในอนาคต ซึ่งแต่ละคนสามารถคำนวณจำนวนเงินสำรองของตัวเองได้ตามสูตร เงินสำรองฉุกเฉิน = ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน x ระยะเวลา 6 เดือน 

หนี้สินไม่เกิน 40% ของรายได้ 

การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะหนี้สินจะช่วยให้คุณมีอิสระทางการเงินเร็วขึ้น โดยสัดส่วนของหนี้สินจะต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ แต่หากมีหนี้สินเกิน 40% ของรายได้ แนะนำว่าควรจะนำเงินก้อน เช่น เงินโบนัสประจำปีไปชำระหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด หรือพิจารณาการรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อที่จะได้สามารถชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ดอกเบี้ยลดลง และยังเป็นการสร้างวินัยการเงินที่ดีเพื่อเป็นโอกาสในการขอสินเชื่อในอนาคตอีกด้วย 

วางแผนก่อนซื้อ 

เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นวันปีใหม่ไทย บางครอบครัววางแผนซื้อของชิ้นใหญ่เพื่อต้อนรับปีใหม่ แต่ก่อนที่คุณตัดสินใจซื้อ ควรวางแผนการเงินให้ดี และยิ่งซื้อแบบผ่อน ยิ่งต้องวางแผนให้ดี ทางที่ดีหากเตรียมเงินดาวน์ไว้ส่วนหนึ่ง จะช่วยให้ค่างวดต่อเดือนลดลง จ่ายสบาย ไม่กดดันตัวเองอีกด้วย 

วางแผนการเงินในบั้นปลาย 

เชื่อว่าบางคนทำงานมาหลายปีแล้วยังไม่มีเงินเก็บ หรืออาจยังมีน้อยไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณในอนาคต  เราจึงควรเริ่มออมเงินในแต่ละเดือนเพื่อจะได้มีเงินเก็บสำหรับวัยเกษียณ ซึ่งวิธีการเก็บเงินสำหรับวัยเกษียณมีหลายวิธี เช่น การลดรายจ่าย การออมเงิน การฝากเงินแบบประจำ หรือการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้แก่ หุ้น หรือกองทุนหุ้น RMF เป็นต้น 

การตรวจ สุขภาพการเงิน ก็เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพของเราว่าในตอนนี้สภาพการเงินของเราเป็นอย่างไร มีความผิดปกติหรือไม่ รายจ่ายไหนที่ทำให้เงินของเราสิ้นเปลืองไปบ้าง เพื่อจะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้มีเงินเหลือเก็บสำหรับเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือสามารถจัดสรรเงินสำหรับเทศกาลสำคัญโดยไม่กระทบกับสภาพการเงินในอนาคตอีกด้วย 

 

สมัครสินเชื่อ