ปัญหาดินเค็ม เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของพี่น้องเกษตรกรไทย โดยเฉพาะภาคกลางติดชายทะเล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพราะดินเค็มส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช เติบโตไม่ดี ตายง่าย ดอกผลออกไม่ดี ทั้งนี้เราพามารู้จักกับดินเค็ม คืออะไร และวิธีแก้ไขปัญหาดินเค็มสำหรับพี่น้องเกษตรกรกันค่ะ

ดินเค็ม (Saline soil) คืออะไร?

ดินเค็ม คือ ดินที่มีสารละลายเกลือในดินจำนวนมากกว่าปกติ จนกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช  เนื่องจากดินเค็ม ทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำ เพราะดินเค็มเป็นพิษจากโซเดียมและคลอไรด์ ใบไหม้และลำต้นแคระแกร็น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืช ผลที่ตามมาจากปัญหาดินเค็ม ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ หรืออาจได้ผลผลิตต่ำ ไม่สมบูรณ์ ปัญหาดินเค็มในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ดินเค็มชายทะเล และดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1.ดินเค็ม ชายทะเล

ดินเค็มชายทะเล พบอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ และภาคตะวันออก เกิดจากตะกอนที่แม่น้ำพัดพามาตกทับถมในทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ลำคลองแถบชายฝั่งทะเล เมื่อมาตกทับถมกันนานเข้าก็จะกินบริเวณกว้างขวางจนเกิดเป็นหาดเลน และเมื่อมีตะกอนดินทับถมมากขึ้นก็จะค่อยๆ พัฒนาเป็นแผ่นดิน สำหรับดินเค็มชายทะเล ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชทั่วไปได้ เพราะดินมีความเค็มสูงมาก มีพืชธรรมชาติบางชนิดเท่านั้นที่สามารถขึ้นได้ดีในดินเค็มชายทะเล เช่น แสม โกงกาง ลำพู ตะบูน ประสัก รวมเรียกว่า ป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง

2.ดินเค็ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และปัญหาดินเค็มนี้ พบได้ในเกือบทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสังเกตอาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. พบคราบขุยเกลือบริเวณผิวดินเค็ม
  2. พื้นที่ดินเค็ม มีเพียงพืชที่ชอบเกลือเจริญเติบโต เช่น หนามแดง หนามบี่ หนามพรม เป็นต้น
  3. พืชตายเป็นหย่อม ๆ มีอาการ ขอบใบไหม้ ต้นแคระแกร็น ผลผลิตน้อย คุณภาพต่ำ
  4. ดินเค็มมีลักษณะเป็นดินทราย ทำให้การขึ้นลงของเกลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว

การแก้ไขปัญหาดินเค็ม

ปัญหาดินเค็ม แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่อาจแก้ได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ดินเค็มชายทะเลที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการทำการเกษตร แต่ในส่วนของพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาดินเค็ม แต่ดินจะมีความเค็มน้อยกว่าดินเค็มชายทะเล ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาดินเค็มในแต่ละพื้นที่ เบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

1.การแก้ปัญหาดินเค็มชายทะเล

  • ทำคันดินกั้นน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำทะเลเข้ามาในพื้นที่
  • ใช้น้ำจืดชะล้างเกลือแล้วระบายออก ในกรณีที่ดินมีเกลือโซเดียมสูง ควรใช้ยิปซัมในการล้างดิน
  • หากความเค็มลดลงแล้ว ลองปลูกพืชที่ทนความเค็มได้ เช่น มะพร้าว ฝรั่ง พุทธา มะขามเทศ เป็นต้น หรือเลี้ยงสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ในน้ำกร่อยนาเกลือ เช่น กุ้ง ปลาทะเล เป็นต้น

2.การแก้ปัญหาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ไม่ปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่า เพราะที่ดินที่ชุ่มชื้น สามารถลดความเค็มของดินได้
  • ทำการขังน้ำพื้นที่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วระบายน้ำออก เพื่อล้างเกลือภายในดิน ทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนที่จะเริ่มทำการเพาะปลูก
  • ปรับสภาพดินด้วย อินทรีย์วัตถุ เช่น แกลบ ปูนขาว ยิปซัม ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โรยบนพื้นที่ดินเค็มที่ต้องการตามด้วยการไถพรวนดิน เพื่อให้สารหรือวัสดุปรับปรุงดิน ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นทำการไถดินอีกครั้งเพื่อเตรียมตัวเพาะปลูกต่อไป

พืชที่สามารถปลูกได้ในดินเค็ม 

หลังจากปรับสภาพดินเค็มจนได้ระดับความเค็มที่เหมาะสมแล้ว สามารถเลือกพืชที่ทนเค็มที่เหมาะกับระดับความเค็มของดิน  ดินที่ระดับความเค็มไม่มากนัก เช่น ผักกาด ถั่วฝักยาว พริกไทย คะน้า ชะอม หน่อไม้ฝรั่ง แตงโม บวบ กะหล่ำ กระเทียม ผักโขม มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วแขก ถั่วปากอ้า งา หรือ ผลไม้อย่าง อะโวคาโด กล้วย ลิ้นจี่ มะนาว ส้ม มะม่วง เป็นต้น

แม้ว่าปัญหา ดินเค็ม อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ขาดเพราะด้วยสภาพภูมิประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็มได้ โดยการปรับสภาพดินเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็มจากอินทรียวัตถุ เช่น แกลบ ปูนขาว ยิปซัม ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รวมไปถึงวิธีการต่าง ๆ ที่เราได้แนะนำไปในข้างต้น ทั้งนี้การทำเกษตรกรรม ยิ่งเป็นการปรับสภาพดินด้วยแล้วยิ่งจำเป็นจะต้องเตรียมพวกวัสดุปรับสภาพดินและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร แนะนำสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อเพื่อเกษตรกร เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถทำเกษตรได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เฮงลิสซิ่ง สินเชื่อสีเขียวทุกสาขาใกล้บ้านคุณ โทร.1361 หรือกดปุ่มสมัครด้านล่างเลย

สมัครสินเชื่อ