เดือนพฤษภาคมถือว่าเป็นเดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เป็นระยะเริ่มต้นของฤดูการทำนา จึงมีวันสำคัญทางการเกษตรที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คือ “วันพืชมงคล” โดยมีชื่อของพีธีนี้อย่างเป็นทางการว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพิธีเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับเกษตรกรทุกคน รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรของไทยในช่วงเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก

ความเชื่อ ของ “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ ที่มีการจัดสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “ฤดูทำนาเริ่มต้นขึ้นแล้ว” โดยมีแนวคิดของคนโบราณมาจากเรื่องของ “ขวัญ” หรือวิญญาณของวัตถุ ความเชื่อโบราณจะเชื่อกันว่า วัตถุต่างๆ ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จะมีส่วนประกอบที่เป็นวัตถุหรือกาย กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือ “ขวัญ” หรือจิตหรือวิญญาณนั่นเอง แม้แต่ สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ ต่างก็มีขวัญกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา นำมาสู่การทำพิธีบูชาวิญญาณในสิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็คือพิธี “ทำขวัญ” นั่นเอง ดังนั้น ก่อนจะลงมือทำนาจะต้องมีการทำขวัญนาเสียก่อน เพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่มทำนา เพาะปลูกพืชผลให้เป็นไปอย่างราบรื่น ต่อมาพิธีกรรมก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย กลายเป็น “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ในวันพืชมงคล ที่ได้เห็นกันในทุกวันนี้

ในปัจจุบัน ส่วนสำคัญในพระราชพิธีที่ถือว่าขาดไม่ได้และจะต้องเกิดขึ้นในทุกปี นั่นคือ “การเสี่ยงทายของพระโครูปงาม” หรือเป็นการเสี่ยงทายของพระโคจากการกิน โดยมีอาหาร 7 ชนิด คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ที่จะเป็นคำทำนายเมื่อพระโคเลือกกิน

“พระโครูปงาม” ในที่นี้ หมายถึง โคที่ถูกคัดเลือกมาประกอบพิธีโดยมีลักษณะตามหลักเกณฑ์ คือ เป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย มีที่โค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม

การเสี่ยงทายจากการเลือกกินของพระโครูปงาม ทำนายว่า?

หากพระโคเลือกกิน “ข้าวเปลือก” หรือ “ข้าวโพด”
คำพยากรณ์ว่า จะเป็นธัญญาหารและผลาหารบริบูรณ์ดี หมายถึง ในปีนั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวและผลไม้

หากพระโคเลือกกิน
“ถั่ว” หรือ “งา”
คำพยากรณ์ ว่าผลาหารและภักษาหารบริบูรณ์ดี หมายถึง ในปีนั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักและเนื้อสัตว์

หากพระโคเลือกกิน “เหล้า”
คำพยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกดีขึ้น การค้าขายกับต่างชาติจะเป็นไปด้วยดี และเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นช่วงขาขึ้น

หากพระโคเลือกกิน
“น้ำ” หรือ “หญ้า”
คำพยากรณ์ว่าน้ำท่าในปีนั้นจะมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก ไม่ว่าจะปลูกข้าว, พืชผัก และผลไม้ก็จะเป็นไปด้วยดีไม่มีปัญหาใดๆ รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งขายก็จะเป็นไปในทางที่ดีด้วยเช่นกัน

โดยก่อนหน้าการเสี่ยงทายจากพระโคทั้ง 2 จะมีพีธีการสำคัญอีกหนึ่งพิธี คือ พระยาแรกนาทำการหว่านพันธุ์ข้าว พร้อมไถกลบ 3 รอบ จากนั้นจึงมีการเสี่ยงทายจากพระโค เมื่อพิธีเสร็จสิ้นลงก็จะมีการเปิดลานพระราชพิธีเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเก็บพันธุ์ข้าวที่ถูกโปรยลงบนดิน ซึ่งมีความเชื่อว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมื่อเก็บไปแล้วจะทำให้การเพาะปลูกปราศจากอุปสรรค จะนำความอุดมสมบูรณ์มาให้กับผู้ที่มีไว้ครอบครอง

ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯ ยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก และยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย

“พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ในวันพืชมงคลถือว่าเป็นหนึ่งในประเพณีที่ดีงาม ที่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างก็เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร การประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงเปรียบเสมือนการสร้างความเป็นสิริมงคลแก่เกษตรกรรม และเป็นพิธีที่ได้รับการสืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน นั่นเอง